กรณีการแก้ไขปัญหาการบรรจุข้าราชการพยาบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้แนวทางที่ชัดเจนแล้ว และแจ้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม.) รับทราบ ซึ่งเป็นแนวทางที่นายกฯ ต้องการ โดยนำอัตราที่ว่าง 2,200 อัตรามาใช้ในปี 2560 จากคำขอทั้งหมดกว่า 10,992 อัตรา โดยจะทยอยบรรจุใน 3 ปี โดยปี 2560 จะบรรจุทั้งสิ้นกว่า 5,000 อัตรา แต่ปี 2561 และ2562 จะต้องนำอัตราข้าราชการเกษียณในแต่ละปี ที่มีประมาณ 800-900 คน รวมปี 3,000 กว่าอัตรา แต่ไม่ใช่นำอัตราเกษียณทั้งหมด แต่ต้องมีอัตราว่างประมาณร้อยละ 5 สำหรับนักเรียนทุนต่างๆ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเฉพาะหน้า จึงต้องแก้ปัญหาระยะยาว โดยให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตั้งคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและกำลังพล เพื่อพิจารณากำลังพลในระยะยาว โดยแยกออกเป็นคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ที่ดูอัตราข้าราชการภาครัฐทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงสาธารณสุขทำแผนอัตรากำลังคน เพื่อศึกษาว่าจะดำเนินการต่อไปได้อย่างไร โดยอาจจะกำหนดจำนวนปีของพนักงานข้าราชการ เพื่อปรับไปเป็นข้าราชการต่อไป รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกันจะต้องหารือร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนในการสนับสนุนทุนการศึกษาของพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นการดึงบุคลากรของภาครัฐออกไป ซึ่งต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ทั้งนี้ ครม. เห็นชอบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่หลังจากนี้ต้องประชุม คปร.และนำกลับเข้ามาพิจารณาใน ครม. ต่อไป คาดว่า น่าจะภายในเดือนพฤษภาคมนี้
นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบว่าจะมีปัญหาลักษณะนี้ในกระทรวงอื่นๆ แต่อาจมีกระทรวงศึกษาธิการที่มีปัญหาเรื่องบรรจุข้าราชการจำนวนมาก แต่การแก้ปัญหาแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม กรณีพยาบาลวิชาชีพ จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้ผลิตบุคลากรด้วย ทั้งนี้ แนวทางในการบรรจุข้าราชการพยาบาล ทางกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า มีเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนดขึ้นอยู่แล้ว และยืนยันว่ามีความยุติธรรม
นายวิษณุ ยังกล่าวถึง การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยไซเบอร์ ที่อยู่ในสภาขับเคลื่อนประเทศ หรือ สปท.กำลังพิจารณา ที่มีความกังวล ว่าจะมีการล้วงข้อมูลของประชาชน ว่า ส่วนตัวไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะร่างดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนข้อเสนอที่ สปท. เสนอให้ใช้ ม.44 เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานบอร์ดมั่นคงไซเบอร์ ส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ เพราะเรื่องนี้จะต้องให้ คสช.พิจารณา เนื่องจาก ตัวเองไม่ได้เป็นคสช. ขณะเดียวกันคสช. และ สปท. ก็ไม่ได้ส่งเรื่องนี้มาให้พิจารณาด้วย ซึ่งกฏหมายดังกล่าวส่งเข้ากฤษฎีกามาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังติดปัญหาจึงต้องรับฟังความเห็นที่หลากหลาย พร้อมปฏิเสธด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนจากสปท.
กรณีมีการแต่งตั้งนายวิชญะ เครืองาม บุตรชายนายวิษณุ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ นายวิษณุ กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ เป็นคนเลือกมา เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องปรองดองหรือเรื่องที่เป็นความลับ และหากไม่ถูกต้องก็ออก เพราะไม่ได้ดิบได้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งหน้าที่ดังกล่าวก็ไม่ได้มีอะไรทำมากเท่าใดนัก เพราะมีคณะกรรมการอยู่แล้วและยังมีที่ปรึกษาอีก ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวนายบวรศักดิ์ได้เข้ามาปรึกษาจริง ซึ่งในส่วนตัวได้บอกไปว่า แล้วแต่จะมอบหมาย และหากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ลาออกได้
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี