หลังการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช.ได้เห็นชอบในหลักการ ส่งเสริมการจัดการศึกษา โดยสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาเติมส่วนที่สถาบันในประเทศขาดแคลน ซึ่งจะเน้นสาขาที่ประเทศไทยขาดแคลน และเน้นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ทั้งนี้เพื่อช่วยจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ทำให้มหาวิทยาลัยจากต่างประเทศสามารถเปิดการศึกษาในประเทศไทยได้ ตามความเหมาะสมและตอบรับการขับเคลื่อนของประเทศไทย ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบในหลักการการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเปิดโอกาสให้ สถาบันจากต่างประเทศ เข้ามา เปิดการศึกษาในประเทศไทยได้แต่จะต้องมีมาตรการ คัดเลือกที่เข้มงวด เพื่อจะไม่ให้เป็นคู่แข่งกันเองโดยสาขาที่เข้ามาเปิดนั้นจะต้องเป็นสาขาที่ประเทศไทยไม่สามารถบริหารจัดการเองได้
นอกจากนี้ยังเห็นชอบการแก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร โดยตามพระราชบัญญัติได้กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 3 คณะทั้งนี้จากการตรวจสอบพบ ปัญหาจากคณะกรรมการหลายอย่าง ทำให้เกษตรกร เกิดหนี้สินกว่า 15,000 ราย มีหนี้สินประมาณ 3,000 ล้านบาท อยู่ในช่วงถูกบังคับคดี โดยเห็นว่าคณะกรรมการ 3 คณะ ไม่สามารถบริหารจัดการได้ จึงให้คณะกรรมการทั้ง 3 คณะยุติการทำหน้าที่และจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจหนึ่งคณะ ปฏิบัติหน้าที่ในระยะเวลา 6 เดือนโดยมีภารกิจหลัก ในการเร่งตรวจสอบ เกษตรกรที่ถูกบังคับคดีให้เสร็จสิ้น และมอบหมายให้ไปศึกษากฎหมายฉบับเดิมเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ที่ประชุมคสช. ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 23 เรื่องการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะครบวาระการทำงาน ในเดือน กันยายนนี้ จำนวน 5 คน โดยคำสั่งเดิมกำหนดการสรรหาว่าต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อคัดเลือกให้ได้ภายใน 15 วัน และดำเนินการสรรหาคณะกรรมการให้ได้ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 23 มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการอีก 1 ชุด พิจารณาคณะกรรมการสรรหาอีกครั้ง ตามกำหนดการเดิม 15 วันแต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถสรรหาคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาได้ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลา จากเดิม ภายใน 15 วัน ออกไปอย่างไม่มีกำหนด