เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสจะพบหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ หลังจากที่ประธาธิบดีมาครงสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาก็เดินทางเยือนกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เพื่อเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่าง 2 ชาติ ภายใต้บริบทของสหภาพยุโรป หรืออียู
พรรคคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน หรือ ซีดียู สายอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล แห่งเยอรมนี คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐ ที่รัฐนอร์ดไรน์เวสท์ฟาเลิน ทางภาคตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคโซเชียล เดโมแครต สายกลาง-ซ้าย และเป็นบ้านเกิดของนายมาร์ติน ชูลซ์ อดีตประธานสภายุโรป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กันยายนนี้
ส่วนในเวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศจะใช้งบประมาณเพื่อการลงทุน 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเดินหน้าโครงการอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเชิญชวนให้รัฐบาล และภาคธุรกิจเข้าร่วมในโครงการที่จะนำไปสู่สันติภาพและความสำเร็จของโลก โดยประธานาธิบดีจีน ประกาศแผนข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และพื้นที่ห่างไกลครอบคลุม 65 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของประชากรโลก และราว 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ของโลก ซึ่งควรจะใช้รูปแบบของความร่วมมือที่เปิดกว้าง เพื่อทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตมากขึ้น
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีน ยังเรียกร้องให้ผู้นำโลกปฏิเสธแนวคิดกีดกันทางการค้า ซึ่งเป็นนโยบายของประธานาธิบดี ทรัมป์ที่ชูนโยบายอเมริกามาก่อน ทั้งด้านการค้าและการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเป็นไปได้จากการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งมโหฬาร ที่มีบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในกว่า 150 ประเทศตกเป็นผู้เสียหาย ซึ่งไมโครซอฟท์เตือนให้รัฐบาลทั่วโลกใช้เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนภัย และละเว้นการปกปิดหรือแสวงหาผลประโยชน์จากจุดอ่อนในระบบคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงของยุโรปเปิดเผยว่ามีผู้เสียหายถูกโจมตีจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่วอนนาคราย มากกว่า 200,000 รายใน 150 ประเทศทั่วโลก ซึ่งอาศัยข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยในระบบปฏิบัติการรุ่นเก่าของบริษัทไมโครซอฟท์ โดยพบว่าตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อน ผู้เสียหายมีทั้งธนาคาร โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ ไปจนถึงเฟดเอ็กซ์ บริษัทจัดส่งพัสดุภัณฑ์จากสหรัฐฯ, โรงงานผลิตรถของเรโนลต์ในยุโรป, เทเลโฟนิกา บริษัทโทรคมนาคมของสเปน, ดอยช์ บาห์น เครือข่ายรถไฟของเยอรมนี ส่วนที่จีนมีคอมพิวเตอร์นับแสนเครื่องในสถาบันและองค์กรเกือบ 30,000 แห่งติดเชื้อมัลแวร์นี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในฮ่องกง ระบุว่า บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งในเอเชีย ตกเป็นผู้เสียหายจากการโจมตี เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน
ด้านไมโครซอฟท์ และ แคสเปอร์สกี้ แล็บ บริษัทรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีฐานอยู่ในมอสโก เปิดเผยว่า กลุ่มแฮกเกอร์ที่เรียกตัวเองว่า แชโดว์ โบรกเกอร์ส ปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่กลุ่มนี้ใช้รหัสดิจิทัลที่เชื่อว่า พัฒนาโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือเอ็นเอสเอ ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน
ส่วนในประเทศไทย พบว่ามีคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนถูกโจมตี 200 เครื่อง ซึ่งต่างก็มีการแก้ไขเอง ไม่ได้ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และไทยเซิร์ต (thaicert) เข้าไปดูแลแต่อย่างใด
สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือแถลงว่าขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือทดสอบเมื่อวันอาทิตย์ เป็นขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์ยิงจากพื้นดินสู่พื้นดิน พิสัยกลางถึงไกลรุ่นใหม่ ชื่อว่า ฮวาซอง-12 ซึ่งในการทดสอบ นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเดินทางมาตรวจสอบด้วยตนเอง และชมเชยเจ้าหน้าที่วิจัยว่าทำงานหนักจนประสบความสำเร็จ และกล่าวว่า คำข่มขู่ของสหรัฐฯนั้น ใช้ไม่ได้กับเกาหลีเหนือ
ด้าน นายจอห์น ชิลลิง วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ด้านอวกาศ ประจำเว็บไซต์นอร์ท 38 ระบุว่า ขีปนาวุธที่มีการทดสอบครั้งล่าสุดนี้ มีพิสัยการโจมตีถึงฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะกวม และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป
ด้านนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาติ แถลงประณามเกาหลีเหนือ และเรียกร้องให้คืนสู่กระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ เพราะเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คุกคามสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค โดยในวันนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีการประชุมลับ
กระทรวงพลังงานรัสเซียเผยแพร่แถลงการณ์ร่วมระหว่างรัสเซียกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งระบุว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันควรร่วมกันขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน หรือจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพื่อให้ตลาดน้ำมันโลกกลับมามีเสถียรภาพตามที่ต้องการ และลดสต๊อคน้ำมันลงสู่ระดับเฉลี่ย 5 ปี โดยสมาชิกกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน หรือโอเปค เห็นชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายนให้ลดกำลังการผลิตลง 1 ล้าน 2 แสนบาร์เรลต่อวันเป็นเวลา 6 เดือนเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปีนี้ เพื่อลดอุปทานน้ำมันล้นเกินและผลักดันให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.01 ดอลลาร์ ปิดที่ 48.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน
ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอนงวดส่งมอบเดือนกรกฏาคม เพิ่มขึ้น 98 เซนต์ ปิดที่ 51.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ด้านตลาดห้นสหรัฐฯ ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 85.33 จุด หรือร้อยละ 0.41 ปิดที่ 20,981.94 จุด
เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 11.42 จุด หรือร้อยละ 0.48 ปิดที่ 2,402.32 จุด
แนสแดค เพิ่มขึ้น 28.44 จุด หรือร้อยละ 0.46 ปิดที่ 6,149.67 จุด
..