การเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก บนพื้นที่ 600 ไร่ ตำบลนาหูกวาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งรวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิดแห่งแรกของประเทศไทยไว้ที่นี่ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้การต้อนรับ
นายกรศิษฏ์ เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ต้องการสร้างให้เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ มีการติดตั้งเทคโนโลยีจากการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 4 ชนิด ไว้ในพื้นที่เดียวกันที่เดียวกัน เพื่อศึกษาว่าชนิดใดจะคุ้มค่า คุ้มทุนมากกว่ากัน ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำ มาติดตั้ง เพื่อให้แผงโซล่าเซลล์ สามารถหมุนตามดวงอาทิตย์ได้โดยอัตโนมัติ
ชนิดที่ 2 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัส ซิลิคอน (Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์
ชนิดที่ 3 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไมโคร คริสตอลไลน์ อะมอร์ฟัส ซิลิคอน (Micro Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์
และชนิดที่ 4 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารประกอบของคอปเปอร์ อินเดียม แกลเลียม ไดเซเลไนด์ CI(GS)S (Copper Indium Galliam Di-Selenide) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์
โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดที่ 2-4 ใช้การติดตั้งแบบคงที่ และแสงที่เหมาะสมต่อการผลิตไฟฟ้าคือ ช่วงเวลา 10.00-14.00 น. โดย กฟผ. จะศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละชนิด ว่ามีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป
นอกจากนี้ กฟผ. ได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก หรือ ศูนย์การเรียนรู้ "คิดดี" โดยออกแบบเป็นอาคารประหยัดพลังงาน พื้นที่ประมาณ 1,700 ตารางเมตร โดยนำลักษณะอาคารพื้นถิ่นริมทะเลและเรือประมงมาประยุกต์ ใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก
สำหรับแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน กฟผ. ได้รวบรวมประวัติความเป็นมาและสิ่งที่น่าภูมิใจของชุมชนในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานและชุมชนทับสะแกมากขึ้น โดยจุดเด่นของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้อยู่ที่โรงภาพยนต์ 4 มิติ และการนำเสนอข้อมูลความรู้ด้านพลังงานในรูปแบบของสวนสนุก ซึ่งใช้ตัวการ์ตูนเป็นตัวแทนของพลังงานธรรมชาติ ซึ่งจะมีนักเรียนและเยาวชนเป็นเป้าหมายหลัก
นายกรศิษฏ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้นอกจากจะมีการเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว นายเสริมคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CMO จำกัด มหาชน บริษัทคู่สัญญางานสื่อจัดแสดงในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก มอบหนังสือมูลค่า 100,000 บาท ให้กฟผ. นำไปใช้ ขณะที่กฟผ. เอง ยังได้มอบอุปกรณ์การแพทย์มูลค่ากว่า 782,000 บาท ให้กับแพทย์หญิงสุภาภรณ์ ภมรสูตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทับสะแก เพื่อใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยและประชาชนที่มารับบริการจากโรงพยาบาลทับสะแก รวมทั้งมอบรถฉุกเฉินมูลค่ากว่า 470,000 บาท ให้กับนายชาญชัย กัยวิกัยกำเนิด ประธานมูลนิธิสว่างรุ่งเรืองธรรมสถาน อำเภอทับสะแก เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติต่อไป
...
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข