การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนกับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นยานพาหนะการเกิดอุบัติเหตุอันดับ 1 โดยในกิจกรรม Stop The CRASH THAILAND นวัตกรรมยานยนต์เพื่อถนนปลอดภัย ที่สนามแข่งรถ ปทุมธานีสปีดเวย์ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า สำหรับเทคโนโลยีที่เหมาะกับประเทศไทย คือระบบ ABS ซึ่งใช้ในสถานการณ์ที่เกิดอุบัติเหตุและต้องเบรกอย่างกระทันหัน ทำให้สูญเสียการทรงตัว โดยจะควบคุมระบบเบรกของตัวล้อ ป้องกันล้อรถล้มได้ ซึ่งคาดว่าอีก 2 เดือน เทคโนโลยีระบบ ABS จะเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้กับรถจักรยานยนต์ ในบางรุ่น โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5,000 บาท
ส่วนในรุ่นเก่า ไม่สามารถที่จะติดตั้งเองได้ เนื่องจาก ต้องมีการวิเคราะห์ระบบการควบคุม ให้สัมพันธ์กับ น้ำหนักและมิติของตัวรถ ซึ่งจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญติดตั้ง แต่นอกจากเทคโนโลยีแล้ว คุณภาพและอายุของยางรถ ถือว่ามีส่วนสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็ตาม นอกจากนี้ ยังรวมถึงพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่จะต้องสวมใส่หมวกนิรภัยและคาดสายรัดทุกครั้ง เพื่อลดการเกิดความรุนแรง ทั้งนี้ มีบางประเทศที่บังคับการติดตั้งเทคโนโลยีนี้ เป็นกฎหมาย เช่น อินเดียและจีน แต่สำหรับประเทศไทย การจะผลักดันได้นั้น สิ่งสำคัญต้องสร้างการตระหนักรู้ ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นความสำคัญของการติดตั้ง ABS จากนั้นกระบวนการต่างๆ จะขับเคลื่อนมาเอง ตามความต้องการของผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี สำหรับรถยนต์ ที่เหมาะกับประเทศไทย เช่น ระบบ AEB CITY ระบบป้องกันรถหยุดกระทันหันโดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องทำการเบรก เพื่อป้องกันตัวรถไม่ให้ชนกับท้ายรถคันอื่นหรือวัตถุกีดขวาง ระบบ BSP ที่สามารถสังเกตเห็นจุดบอดขณะขับขี่รถยนต์ ซึ่งสามารถเตือนให้ผู้ขับขี่ได้รู้ถึงวัตถุหรือรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในตำแหน่งจุดบอด เป็นตำแหน่งที่คนขับไม่สามารถมองเห็นได้จากกระจกรถ และระบบ ESC ป้องกันการแหกโค้ง ป้องกันรถหลุดโค้งได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รถเสียการทรงตัว โดยจะควบคุมแรงเบรกระหว่างล้อให้อยู่ในทิศทางที่ต้องการ ทั้งนี้ข้อดีของเทคโนโลยีทั้ง 4 ระบบ สามารถที่จะลดการเกิดอุบัติเหตุและลดความรุนแรงบนท้องถนนได้
อย่างไรก็ตาม การใช้รถที่เกินสมรรถนะ เทคโนโลยีก็ไม่สามารถที่จะช่วยได้ ดังนั้นการใช้รถยนต์จะต้องอยู่ภายในกรอบ และถูกประเภท เพราะเทคโนโลยีก็มีข้อจำกัดหากผู้ใช้รถใช้อย่างไม่ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม