การพัฒนาวัสดุทางเลือก ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการเครือข่ายงานวิจัยทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพ ระหว่างกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมีนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย (วว.) ลงนามร่วมกัน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทาน มีความต้องการที่จะปรับวัสดุ ส่วนประกอบของโครงสร้างงานชลประทาน ที่บางอย่างอาจหายากหรือมีราคาสูง ไม่สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้ศึกษานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งทาง วว. ได้มีการวิจัยไว้อยู่แล้ว มาผสมผสานกับงานชลประทาน นอกจากนี้ สำหรับงานชลประทานแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบวัสดุคุณสมบัติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ห้องปฏิบัติการของกรมชลประทาน ที่มีอยู่และกระจายขณะนี้ ให้มีการยกระดับ มาตรฐาน ISO / IEC17025 รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ ในงานตรวจสอบต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน และสิ่งสำคัญคือด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการประเมินผลและการศึกษา
ขณะที่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามหาสถาบันที่ได้มาตรฐานเข้ามาช่วยดูแลแนวทางป้องกันและติดตามผลด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนความร่วมมือในครั้งนี้จะมีประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจาก วัสดุอุปกรณ์ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในบางชิ้นมีอายุการใช้งานมายาวนาน รวมทั้งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 การวิจัยถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดย วว. มีคุณสมบัติและคุณภาพที่มากพอ จึงประสานการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น สิ่งสำคัญคือกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีงานบำรุงรักษาอาคารชลประทาน เกือบ 100,000 แห่ง และคลองส่งน้ำยาวกว่า 30000 กิโลเมตร เชื่อว่าการบำรุงรักษาและการพัฒนาจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต และลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ซึ่งในอนาคตอาจมีข้อจำกัดการใช้วัสดุมากขึ้น
การลงนามครั้งนี้ นายสัญชัย มอบนโยบาย ให้ประเมินผลการทำงานร่วมกันทุกๆ 4-6 เดือน ซึ่งจะไม่ใช่แค่การลงนามเท่านั้นแต่จะต้องให้เห็นผลออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ ส่วนแผนในอนาคต ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ความร่วมมือของส่วนราชการถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเช่นการประปาส่วนภูมิภาค เกี่ยวกับความร่วมมือภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และในอนาคต คาดว่า ภาพการใช้น้ำถือว่ามีความจำเป็น ทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ อาจทำกับส่วนราชการอื่นๆ ทำให้การพัฒนาระบบชลประทานดีขึ้น ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีแผนในการทำงานสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์น้ำของชาติด้วย
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม