การป้องกันกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่ง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการเครือข่ายงานวิจัยทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย (วว.) นายสมหมาย ช้างพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนทดสอบและวิเคราะห์วัสดุ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งเพื่อการชลประทานนี้ จะทำให้ความลาดชันของตลิ่งตามคลองชลประทาน มีความมั่นคงไม่พังทลาย และจะสามารถต้านทานกระแสน้ำที่พัดมาทำลายตลิ่งได้ในระดับหนึ่ง โดยจะมีการนำร่อง มาทดลองใช้ในโครงการของชลประทานรังสิตใต้ เพื่อดูอายุการใช้งานและคุณสมบัติวัสดุ เมื่อนำไปใช้ในพื้นที่จริง ก่อนจะมีการพัฒนาต่อไปเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งอาจมีการพัฒนาให้เกิดความทนทานต่อการกัดกร่อน มีความแข็งแกร่ง และทำให้บล็อกประสานมีน้ำหนักมากเท่ากับปูน เพื่อให้สามารถกดทับแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์จากยางพาราได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา วัสดุคอมพอสิตสำหรับประตูระบายน้ำในงานชลประทานโดยเป็นวัสดุทางเลือกที่ใช้ทดแทนแผ่นเหล็กในประตูระบายน้ำ ที่มักจะเกิดปัญหาถูกน้ำกัดกร่อน ทำให้เกิดความทรุดโทรม อีกทั้งเมื่อนำวัสดุแผ่นเหล็กใหม่มาใช้แผ่นเหล็กเดิม ก็จะหายากและมีราคาสูง จึงมีแนวคิดในการนำวัสดุคอมพอสิตพอลิเมอร์มาใช้ทดแทน ซึ่งจะมีราคาประหยัดและลดการใช้โลหะขนาดใหญ่ได้ ซึ่งวัสดุคอมพอสิตพอลิเมอร์นี้จะประกอบด้วยเส้นใยเสริมแรงและโครงเหล็กรับแรงทำหน้าที่เป็นแผงหน้าประตูระบายน้ำ โดยจะนำร่องในพื้นที่สำนักชลประทานที่ 11 เพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติก่อน โดยต้องคำนึงถึงความต้านทานแรงน้ำ รวมทั้งไม่เกิดการลอยตัวเมื่อใช้งานจริง
ด้านดร.เจต พานิชภักดี นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย อธิบายถึง วัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งเพื่อการชลประทานนี้ จะประกอบด้วยผลิตภัณฑ์บล็อกประสานซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการกัดเซาะ และแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์จากยางธรรมชาติ มีแนวคิดมาจากความต้องการป้องกันการกัดเซาะและรักษาสภาพตลิ่งไว้ โดยในชั้นล่างจะมีแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์จากยางพาราวางทับดินตามตลิ่ง ทำหน้าที่เก็บกักดิน บริเวณตลิ่งไม่ให้ไหลเมื่อมีกระแสน้ำพัดพามา และใช้หมุดยึดประสานระหว่างตลิ่งกับแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์จากยางธรรมชาติ
หลังจากนั้นจะใช้บล็อกประสาน ที่ทำจากดินวางกดทับแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์จากยางธรรมชาติอีกชั้น โดยแผ่นบล็อกประสานนี้ทำมาจากดิน ซึ่งไม่กำหนดประเภทดิน เพราะสามารถเลือกใช้ดินจากพื้นที่ที่จะนำวัสดุนี้ไปใช้ได้ทันที โดยจะนำมาวิเคราะห์ถึงคุณสมบัติก่อนอัดและขึ้นรูป ใช้ระยะไม่เกิน 1 วันก็สามารถอัดดินได้ โดยดินนี้จะมีลักษณะ เป็นช่องขนาดเล็ก ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นช่องในการปักหญ้าแฝกลงไป เนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณสมบัติในการรักษาหน้าดิน ทั้งนี้ ในอนาคตจะพัฒนาให้ช่องดังกล่าวมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสะดวกต่อการปักหญ้าแฝกต่อไป สำหรับสาเหตุที่เลือกใช้ดิน เนื่องจาก ดินมีคุณสมบัติที่ราคาไม่สูงสามารถใช้ทดแทนบล็อกปูนที่มีค่าใช้จ่ายแพงกว่า อีกทั้งบล็อกปูนที่ใช้การป้องการกัดเซาะตลิ่งแบบเดิมนั้น อาจทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหากใช้บล็อกปูนแล้วหญ้าตามตลิ่งจะไม่สามารถขึ้นมาได้ตามธรรมชาติ เพราะถูกบล็อกปูนกดทับจนหมด
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม