นายกฯย้ำไม่มีทุจริตจัดซื้อเรือดำน้ำ ส่งวิษณุ-สุวพันธ์ดู พรบ.คุมสื่อของสปท.

02 พฤษภาคม 2560, 14:22น.


หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทท์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพลำแรกในวงเงิน 13,500 ล้านบาท ว่า ขอสื่อมวลชนให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวโดยเฉพาะรายละเอียดของเรือดำน้ำเพราะหลายเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นการเปิดเผยข้อมูลมากเกินไปซึ่งหลายประเทศไม่ทำเช่นนี้  ยืนยันว่าขั้นตอนการจัดซื้อทุกอย่างเป็นไปตามพ.ร.บ.งบประมาณ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ 20 ปี เป็นพัฒนาให้มีศักยภาพทางทะเลให้มาขึ้นซึ่งสอดคล้องการพัฒนาของภูมิภาค และคุณสมบัติเป็นไปตามเอกสารกำหนดขอบเขตและรายละเอียดของการจัดซื้อ (ทีโออาร์)  กำหนดโดยไม่ได้ ล็อกว่าต้องเป็นประเทศหรือบริษัทใด พร้อมย้ำด้วยว่าไม่มีการทุจริต แต่ยอมรับว่าการจัดซื้อมาแล้วบางสิ่งอาจมีปัญหาเพราะไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่เราผลิตเอง และปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามการจัดซื้อก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของกำลังพลเป็นหลักเพราะไม่มีใครต้องการซื้อของมาแล้วเอาชีวิตกำลังพลไปเสี่ยง พร้อมย้ำด้วยว่า ไม่ได้นำเงินที่จะต้องทำไปช่วยเหลือประชาชนด้านอื่นๆ ไปซื้อเป็นงบประมาณคนละส่วนกัน โดยงบประมาณส่วนนี้มีการจัดสรรไว้อยู่แล้ว



ส่วนวัฒนธรรมการส่งเด็กผู้หญิงเพื่อไปต้อนรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ส่วนตัวนายกรัฐมนตรี มองว่า วัฒนธรรมดังกล่าวหมดไปนานแล้ว ส่วนตัวไม่เคยทำและไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ นับตั้งแต่ที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวลาไปประชุมไม่เคยค้างคืนเพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระเจ้าหน้าที่ในท้องที่  และรัฐบาลไม่มีนโยบายเช่นนี้ ทั้งนี้หากตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างน้อยที่สุดในทางวินัยก่อนและหากผิดกฎหมายอาญาก็ต้องดำเนินคดี



ส่วนกรณีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรีว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นได้มอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกฤษฎีกา เพื่อพุดคุยหารือและรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีข้อสรุปอย่างไรจะต้องรอเพราะต้องส่งเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาอีก 3 วาระ จึงไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง โดยสื่อเองต้องหาทางออกให้ได้   เพื่อให้สื่อมีคุณภาพและดีขึ้นด้วยความรับผิดชอบของสมาคมสื่อ ผู้ประกอบการ และบรรณาธิการ ในการหาทางเชื่อมต่อกับรัฐ  หากคิดได้ว่าควบคุมกันเองได้ก็ขอให้เสนอมาว่าจะหาทางออก  อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นสื่อและก้าวล่วง แต่รัฐสนับสนุนการทำงานของสื่อ เพราะสื่อเป็นผู้ติดตามการทำงานของรัฐบาล และมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ พร้อมขอให้ระมัดระวังการนำเสนอข่าว

ข่าวทั้งหมด

X