การปรับปฏิทินส่งน้ำเพื่อทำนาปี ให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การกำหนดปฏิทินส่งน้ำกรมชลประทานได้ต่อยอดจากสถิติหลายปีที่ผ่านมาของพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประมาณ 1ล้าน 4 แสนไร่ ที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้เดือนกันยายนของปีก่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปที่ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และมีแนวคิดว่าควรเลื่อนเวลาการเพาะปลูกข้าวนาปีและเก็บเกี่ยวก่อนที่น้ำหลากจะมาถึง รวมถึงนายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วยว่าในพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาควรที่จะมีการเลื่อนเวลาเพาะปลูก
ทั้งนี้ตั้งแต่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป เริ่มปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1เมษายน กว่า 210,000 ไร่ และ วันนี้พื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่นครสวรรค์ลงมากว่า 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นไร่ จำนวน 12 ทุ่ง เช่น ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง และทุ่งบางกุ่ม ซึ่งใช้น้ำจากคลองชัยนาทป่า-ป่าสัก ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด จะใช้น้ำที่ส่งผ่านทางแม่น้ำน้อย และทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะเริ่มส่งน้ำให้เพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวภายในปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ถือว่าเป็นการต่อยอดจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ที่ทุ่งบางระกำและกำหนดเชิงนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยประมาณเดือนกันยายนและตุลาคมน้ำจากตอนบนจะมาถึงในพื้นที่ตอนล่าง ดังนั้นต้องนับย้อนกลับมาว่า หากปลูกข้าวจะสามารถปลูกข้าวได้มากที่สุด 110 วัน ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว ก็ได้มาแนะนำชนิดพันธุ์ในการปลูก และสามารถเก็บเกี่ยวอย่างไรให้ได้ทันเวลา ดังนั้นหากดำเนินการตามคำแนะนำ ก็จะเก็บเกี่ยวได้ทันแน่นอน รวมถึง ช่วยลดวามเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และยังจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญ หลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วนั้น สามารถใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติเป็นการรองรับในฤดูน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำในการทำนาปรังและการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งได้ด้วย
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นแต่เมษายนที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมให้เกษตรกรรับทราบมาอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางสื่อต่างๆ รวมถึงร่วมกับทางฝ่ายปกครองจังหวัด ผู้ว่าการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปทำความเข้าใจแล้ว