เสธ.ทร.ย้ำ จัดซื้อเรือดำน้ำ หยวน S26Tตามคุณภาพและราคา ไม่ได้ทำตามใบสั่งใคร

01 พฤษภาคม 2560, 19:09น.


ความคืบหน้าในการจัดซื้อเรือดำน้ำ พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เปิดเผยว่า ประเทศไทย จะมีการลงนามสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำชั้นหยวน S26T ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะชำระเงินค่างวดแรกภายใน 45 วัน นับจากวันลงนามสัญญา ยืนยันว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ มาจากการศึกษาคุณภาพและราคา ไม่ได้มีใบสั่งตามที่เป็นกระแสข่าว และบริษัทที่จัดซื้อ เป็นรัฐวิสาหกิจ มีการควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน



โดยการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ แม้จะเปลี่ยนผู้บัญชาการก็ไม่มีผล ซึ่งกองทัพเรือคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถจัดซื้อเรือดำน้ำได้ทั้งหมด 3 ลำ เพื่อใช้สลับสับเปลี่ยนกัน โดยใช้ปฏิบัติการ 1 ลำ เตรียมพร้อมหมุนเวียน 1 ลำ และซ่อมแซมตามวงรอบ 1 ลำ เพิ่มขีดความสามารถทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน  ซึ่งหลักการใช้เรือดำน้ำ ใช้การจัดการในทะเล ฝึกคน และซ่อมบำรุงตามวงรอบ เพื่อให้เกิดความพร้อมสูงสุดหากจัดซื้อได้ครบทั้ง 3 ลำ จะต้องใช้วงเงิน 36,000 ล้านบาท ส่วนสัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างจะมีการยกเลิกสัญญาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลต่อไปเป็นผู้พิจารณา แต่จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะยกเลิกเพราะเหตุใด เพราะจะต้องมีการจ่ายเงินล่วงหน้าไป 700 ล้านบาท



พลเรือเอกลือชัย ระบุอีกว่า การเลือกประเทศผู้ผลิตเป็นจีน จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โลก ที่เกิดความตึงเครียดระหว่าง จีน รัสเซีย กับสหรัฐอเมริกา และยืนยันว่าไม่มีอะไรแอบแฝง  เนื่องจากจีนเป็นประเทศพันธมิตรกับไทย และยังฝึกกำลังพล ดูแลกำลังพลให้ไทยด้วย   



สำหรับข้อดีของเรือดำน้ำรุ่นดังกล่าว คือ สามารถปฏิบัติการใต้น้ำนาน 21 วัน โดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมารับออกซิเจนธรรมชาติเหนือน่านน้ำ มีขีดความสามารถในการซ่อนพรางตัวเองสูงเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำธรรมดา ติดตั้งจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำและบนดินแบบ YJ-8X โดยจีนได้มีข้อเสนอการให้อาวุธ อาทิ ตอร์ปิโด และ ทุ่นระเบิด ซึ่งทุ่นระเบิดถือเป็นอาวุธที่ร้ายแรงและสำคัญโดยข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ไม่เคยพูดถึงเรื่องดังกล่าว



ด้านพลเรือตรีวิศาล ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยผู้ใช้งานเรือดำน้ำ กล่าวว่า ทางจีนได้รับประกันหลังการส่งมอบ 2 ปี รับประกันการเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุด 8 ปี สนับสนุนอะไหล่ที่ต้องการสำหรับการซ่อมบำรุงตามวงรอบ 5 ครั้ง สนับสนุนเจ้าหน้าที่เทคนิคมาประจำที่กองเรือดำน้ำตลอดช่วงเวลารับประกัน 2 ปี



ส่วนการเตรียมความพร้อมรองรับการจัดหาเรือดำน้ำ จะต้องมีการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ การสร้างอาคารที่พักกำลังพล การจัดส่งกำลังพลฝึกอบรมและสัมมนาด้านเรือดำน้ำจากต่างประเทศ การจัดส่งกำลังพลร่วมฝึกและสังเกตการณ์ฝึกในเรือดำน้ำ การส่งคณะไปแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกับกองเรือดำน้ำประเทศต่างๆ และการจัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ



ขณะที่พลเรือตรี กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ บริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าวว่า การพัฒนากำลังรบของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในอีก 10 ปีข้างหน้า มาเลเซีย จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ สิงคโปร์ จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 12 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ เวียดนาม จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ เมียนมา จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 38 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ

ข่าวทั้งหมด

X