การบรรยายพิเศษหัวข้อ "ข้าราชการใต้พระปรมาภิไธยและจริยธรรมกับนักกฎหมาย" โดยศาสตราจารย์ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาสตราจารย์จรัญ กล่าวว่า เราได้มีแบบอย่างการทำงาน การดำรงตนของพระราชาของเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้ประกาศแนวนโยบายในครั้งแรกที่ครองราชย์ว่า"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม" ซึ่งครองแผ่นดินด้วยหลักธรรมาธิปไตย ถือความถูกต้องชอบธรรมเป็นใหญ่ ไม่ใช่ตนเองเป็นใหญ่ หรือไม่ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ที่อาจทำให้ประเทศเสียหายซึ่งไม่ใช่หลักธรรมาธิปไตย ศาสตราจารย์จรัญ กล่าวว่า แม้ว่าเราจะเป็นสังคมที่อยู่กับประชาธิปไตยมานาน และปักใจให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก เป็นตัวชี้ขาดทุกประเด็นปัญหา แต่จะต้องระวังว่า ถ้าแนวทางของเสียงข้างมาก เป็นแนวทางที่ผิดจะต้องระงับเอาไว้ให้ได้ มิเช่นนั้น มติข้างมาก จะทำให้ประเทศพินาศได้
ทั้งนี้ มองว่าสำหรับข้าราชการ ในเรื่องการตัดสินใจ การใช้อำนาจขอให้พุ่งเป้าไปที่ประโยชน์ส่วนรวม เพราะข้าราชการคือคนที่อาสาเข้ามาทำงานของพระราชา ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยไม่เลือกชนชั้น จึงขอให้ถือการทำงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทำเป็นแบบอย่างตลอด 70 ปี สำหรับผู้ปกครอง หรือผู้บริหาร ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง คือ การคำนึงถึงผู้ด้อยโอกาส ให้การช่วยเหลือดูแล ให้ความรู้ ความเข้าใจ และสามารถทำให้ผู้ด้อยโอกาสพ้นจากภาวะต้องคอยรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น แล้วกลายมาเป็นผู้ยื่นความช่วยเหลือให้แก่ผู้ด้อยโอกาสแทนได้ อย่างไรก็ตามการทำงานให้กับสังคมตามแนวทางพระราชาจะต้องมองการณ์ไกล ผู้นำต้องมองเห็นภัยที่จะมาคุกคามผู้คนและองค์กรก่อนเกิดขึ้น เพื่อป้องกัน ยับยั้ง ภัยที่เกิดข้างหน้าได้ โดยไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาปลายเหตุ หรือปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ขณะเดียวกัน ขอให้ลอยตัวขึ้นมาเหนือความเป็นซ้ายหรือขวาโดยปราศจากความลำเอียง และเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดซ้ำขึ้นอีก
นายจรัญ กล่าวว่า เมื่อใดนักกฎหมาย ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีงามของประชาชน เมื่อนั้นก็ถือเป็นนักกฎหมายสายปีศาจ และเมื่อมีผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ไปล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนอายุ 15 ปี แม้เยาวชนจะยินยอม ก็ถือเป็นความผิดร้ายแรง และถือว่าผิดศีลธรรมด้วย ดังนั้น หากใครกระทำผิด ก็จะต้องรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี