ปัญหาความยากจนของประชากรในภาคอีสาน ส่วนใหญ่เกิดจากความแห้งแล้ง แม้ว่าภาคอีสานจะเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดของประเทศคือ 69 ล้าน 9 แสน 1 หมื่น ไร่ แต่กลับมีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดเพียง 8 ล้าน 6 หมื่นไร่ ในฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วม และในฤดูแล้งก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำซ้ำซากซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ค่อนข้างต่ำ เกษตรกรในภาคอีสานจึงมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำกว่าเกษตรกรภูมิภาคอื่นๆ จึงทำให้ประชากรในภาคอีสานมีคนยากจนมากที่สุดถึง 1,930,000 คน แม้ว่าภาคอีสานจะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเฉลี่ยไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงทำให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยให้นำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด ซึ่งขณะนี้มีโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงขึ้น

ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่มีการปรับปรุงมาจากโครงการ โขง ชี มูลของกรมส่งเสริมพลังงานทดแทนปี 2535 รวมทั้งโครงการอื่นๆ มาบูรณาการ ผ่านการคิด วิเคราะห์ใหม่ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโครงการโขง เลย ชี มูล มีการนำน้ำมาใช้ใน 2 จุดหลัก คือ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดเลย มีระยะเวลาการดำเนินโครงการทั้งหมด 9 ระยะด้วยกัน แต่ด้วยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 20 ปี จึงได้มีการเริ่มพัฒนาโครงการเล็กที่สามารถทำได้ทันทีก่อน
โดยโครงการระยะที่ 1 จะนำน้ำจากแม่น้ำเลย ซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่แม่น้ำโขงมาบรรจบกับภาคอีสาน สามารถลำเลียงน้ำผ่านเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสาน ผ่านจังหวัดหนองบัวลำภู เข้ามาเติมน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง และบางส่วนไหลเข้าสู่เขื่อนลำปาว และจะมีการสร้างท่อส่งน้ำความยาว 65 กิโลเมตร ดึงปริมาณน้ำ 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในหน้าฝนมาใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่กว่า 1.6 ไร่ ซึ่งโครงการระยะแรกสามารถเดินหน้าได้
ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานไปจะต้องมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และพิจารณารายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความเข้าใจกับทุกฝ่าย และขั้นตอนสุดท้ายคือการก่อสร้าง จะใช้เวลารวมทั้งหมด 9 ปี โดยงบประมาณไปใช้ในระยะแรก ประมาณ 150,000 ล้าน จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์เบื้องต้น จำนวน 6 จังหวัด
ทั้งนี้ประเทศจีนได้มีการก่อสร้างเขื่อนไว้หลายแห่ง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายในประเทศ และมีการปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำโขงในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ระบบน้ำในแม่น้ำโขงมีความเปลี่ยนแปลงไป น้ำในฤดูฝนจะลดลง ขณะที่น้ำในฤดูแล้งจะมากขึ้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยจึงได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับกระทรวงแหล่งน้ำของจีน จะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเนื้อเรื่องของการปล่อยน้ำ ในเขื่อนใหญ่ของจีนประมาณ 8 แห่ง ว่าจะปล่อยเมื่อไหร่ เพื่อเตรียมการรับมือ
นายสมอน พรหมาศรี เกษตรกรบ้านธาตุ ตำบลธาตุ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผลผลิตทางการเกษตรในไร่ของตนที่มีอยู่จำนวน 3-4 ไร่ ค่อนข้างตกต่ำเนื่องจากสภาวะภัยแล้ง ต้องนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำจากแม่น้ำเลยขึ้นมาใช้ แม้ว่าจะเพียงพอแต่ก็ไม่สะดวก โดยในพื้นที่การเกษตรของตนนั้นไม่ได้ขุดบ่อสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ เนื่องจากดินที่นี่เป็นดินทราย เมื่อขุดบ่อไว้น้ำก็ซึมลงดินจนหมด หากกรมชลประทานเข้ามาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นี้ครอบครัวของตนก็จะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก
...
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข