ในวันนี้ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า โดยมีนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ข้าราชการ วท. ให้การต้อนรับ ที่น่าสนใจคือรายการอาหารที่นำมาจัดเลี้ยงผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลการวิจัยพัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลงานของหน่วยงานภายใต้สังกัด วท.
นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญในการที่จะวางรากฐานแห่งอนาคตให้กับประเทศไทย จึงขอให้ทุกกระทรวงให้ความสำคัญและสนใจผลงานต่าง ๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งได้มีการคิดค้น วิจัย พัฒนาไว้แล้วนำไปสู่การใช้งานและประโยชน์ให้ได้ภายในปีนี้ พร้อมขอบคุณการปฏิบัติงานของทุกกระทรวงตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่กำลังจะครบ 3 ปีในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้ ซึ่งต้องพยายามแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้เกิดความยั่งยืนให้ได้โดยเร็วเพื่อเดินหน้าประเทศไปสู่อนาคต ขณะเดียวกันทุกคนต้องร่วมกันสร้างระบบราชการให้มีเกียรติยศและศักดิ์ศรี ให้ได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากประชาชน ตลอดจนการทำงานต้องให้ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง และทำงานขับเคลื่อนประเทศร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบประชารัฐ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำงานของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งขอให้ทุกคนร่วมกันทำความดีและเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน ช่วยกันกำกับดูแล ริเริ่มกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติ ตลอดจนให้ใช้จ่ายงบประมาณ เป็นไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศอย่างแท้จริง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – มีนาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,041,990 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 9,305 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 25,268 และ 4,026 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.8 และ 1.5 ตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์
ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. ควบคุมตัว ผู้ต้องหา 3 คนในคดีค้ามนุษย์เด็กหญิงอายุ 14 ปี จ.แม่ฮ่องสอน ไปขออำนาจศาลฝากขังผัดแรก พร้อมค้านประกันตัว ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก คือดาบตำรวจ ยุทธชัย ทองชาติ สังกัดสถานีตำรวจภูธรน้ำเพียงดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน นางสาวปิยวรรณ หรือ เมย์ สุขมา และนางสาวปิยทัสน์ หรือ ฟ้า ภาพเทียนสุวรรณโดยจะฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน-8 พฤษภาคม 2560 ในข้อหาร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณีบุคคลที่อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี, สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุไม่ถึง 18ปี, ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป ซึ่งบุคคลใดเพื่อการอนาจารหญิง, ร่วมกันเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กระทำแก่บุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปีและพรากผู้เยาว์อายุเกิน15ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี
กองทัพสหรัฐฯ ยิงทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป มินิตแมน 3 (Minuteman III) จากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก ทำระยะไกลกว่า 4,000 ไมล์ แล้วตกลงสู่ทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้แนวปะการังควาจาลีน บริเวณหมู่เกาะมาร์แชลล์ โดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ มีขีปนาวุธข้ามทวีปมินิตแมน 3 ในคลังแสงของฐานทัพ 3 แห่ง คือในไวโอมิง, นอร์ทดาโคตา และมอนทานา นอกจากนี้ยังมีฝูงบินเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล B-2 และ B-52 ที่มีศักยภาพหย่อนระเบิดนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับกองเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธ เช่นเดียวกับฝูงบินของกองทัพอากาศที่สามารถบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี
ปิดท้ายที่รายงานของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ที่สำรวจความพึงพอใจในชีวิตของวัยรุ่น โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีอายุ 15 ปีจำนวน 540,000 คน ซึ่งในกลุ่มนี้มีนักเรียนญี่ปุ่นมากถึง 6,600 คนร่วมตอบคำถาม โดยพบว่า นักเรียนญี่ปุ่นมีผลการเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ในทุกด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน และศักยภาพในการเรียนอยู่ในระดับเกือบสูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศทั้งหมด โดยนักเรียนชายของญี่ปุ่นมีผลการเรียนที่ดีกว่านักเรียนหญิงอย่างชัดเจน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการที่นักเรียนส่วนใหญ่บอกว่าไม่พึงพอใจในชีวิตของตนเอง ขณะที่นักเรียนจากกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกามีค่าความพึงพอใจสูงกว่า ซึ่งสื่อของญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า การที่นักเรียนญี่ปุ่นไม่มีความสุขในชีวิต ก็เพราะการเรียนเคร่งเครียดมาก นักเรียนต้องแข่งขันอยู่ตลอดเวลา มีการทดสอบมากเกินไป นักเรียนญี่ปุ่นมีการบ้านแม้แต่ในช่วงปิดเทอม และนักเรียนมัธยมปลายเกือบทั้งหมดต้องไปเรียนกวดวิชา ทั้งการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำต่อเนื่องทำให้นักเรียนไม่เห็นอนาคตเมื่อจบการศึกษา
ส่วนศักยภาพด้านการเรียนของเด็กไทยด้อยกว่าค่าเฉลี่ยในทุกด้านทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยเฉพาะเรื่องการอ่าน ที่ลดลงมากนับตั้งแต่การสำรวจเมื่อปี 2549 แต่เด็กไทยมีมาตรฐานความเท่าเทียมกันในระดับที่ดีเมื่ออยู่ในโรงเรียน ทั้งมีความพึงพอใจในชีวิต และมีความสุขที่โรงเรียนมากกว่า.
...
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก