การปรับตัวของงานวิทยุกระจายเสียง ให้เข้ากับยุคปัจจุบัน ในงาน Radio Asia 2017 Conference นางโจน วอเนอร์ กรรมการผู้จัดการสถานีวิทยุ ประเทศออสเตรเลีย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอว่า คนทำงานด้านวิทยุกับผู้ฟัง จะต้องมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ต้องทำให้ผู้ฟังสามารถติดต่อสื่อสารได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และในอนาคต รูปแบบการกระจายเสียงรูปแบบดิจิตอลหรือพึ่งพาอุปกรณ์มือถือ ควบคู่ไปด้วย วิทยุจึงจะสามารถดำรงอยู่ได้ โดยต้องพัฒนา และหาวิธีการใหม่ๆที่จะส่งเสริมเพื่อให้ได้รับความสนใจเท่าเทียมกับสื่ออื่นๆ ปัจจุบันผู้ฟังจะไม่ผูกติดกับสถานีหรือผู้จัดรายการคนใดคนหนึ่ง แต่จะพยายามค้นหาคลื่นจากสังคมออนไลน์ที่ตอบสนองการรับฟัง โดยนางโจน ได้นำเสนอข้อมูลผู้ฟังในประเทศออสเตรเลีย ที่ 1 ใน 3 ของผู้ฟัง จะฟังวิทยุจากสังคมออนไลน์และร้อยละ 61 ผู้จัดรายการต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง ทั้งนี้ในปัจจุบัน การรับฟังวิทยุของผู้ฟังจะไม่ใช่การฟังเสียงได้เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสามารถส่งภาพได้ โดยปรากฏอยู่ในสังคมออนไลน์ ดังนั้นเรื่องของสังคมออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะใน facebook ที่ผู้ฟังสามารถเข้าถึงในเวลาใดก็ได้ ส่วนอนาคตของวงการวิทยุ ถือว่ายังมีอนาคตอย่างมาก แต่จะต้องเป็นรูปแบบผสมผสาน โดยเน้นการไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถเข้าถึงง่าย มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และนำเสนอจุดแข็งของแต่ละคลื่นให้ผู้ฟังทราบ
ด้านพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ปัจจุบันวิทยุ สามารถกระจายเสียงผ่านแอพพลิเคชั่นหรือโทรศัพท์มือถือได้ หัวใจสำคัญของงานวิทยุยังคงเหมือนเดิม คือ การส่งสารไปยังผู้ฟังจำนวนมาก ให้ได้รับข้อมูลอย่างสะดวก ส่วนเทคโนโลยีใหม่จะส่งผลต่อวิธีการเข้าถึง และฟังวิทยุของผู้ฟังในประเทศไทย จากข้อมูลอัตราการเจาะตลาดด้านวิทยุในประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งในปี 2012 มีตลาดวิทยุร้อยละ 38 และในปี 2016 เหลือร้อยละ 16 และมีผู้ฟังอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคนในประเทศไทย สำหรับเครื่องมือการรับฟังยังคงเป็นเครื่องรับฟังวิทยุเป็นหลักและร้อยละ 22 จะมีการฟังผ่านคอมพิวเตอร์โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต เพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตาม การให้บริการด้านวิทยุกระจายเสียง ก็ยังมีสถานีวิทยุจำนวนมาก ทั้งสถานีหลัก และวิทยุชุมชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรลดจำนวนสถานีให้เหลือเพียง 2,000-3,000 สถานี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางเทคนิค ซึ่งที่ผ่านมาได้มีหน่วยงานในการดูแลการกระจายเสียงทางวิทยุให้เหมาะสม ซึ่งการปิดสถานีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่จะต้องสร้างทางเลือกโดยนำเรื่องดิจิตอลเข้ามาช่วย
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม