รร.ทหารสรรพวุธ เริ่มฝึกครูราชรถ อัญเชิญพระบรมศพ

25 เมษายน 2560, 17:47น.


พ.อ.เอนก กล่อมจิตร รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพวุธทหารบก เป็นประธานพิธีเปิดการฝึกครูราชรถ จำนวน 20 นาย โดยมอบหมายให้โรงเรียนทหารสรรพาวุธฯ รับผิดชอบในส่วนของขบวนพระอิสริยยศ อัญเชิญพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ.ต.สิทธิศักดิ์ ศรีนวลดี สังกัดกองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ (กรสย.) ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพวุธ (ศซส.) กรมสรรพาวุธทหารบก ในฐานะหัวหน้าครูฝึกพลฉุดชักราชรถ กล่าวว่า กรมสรรพาวุธทหารบก รับผิดชอบขบวนพระอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 2 จากขบวนพระอิสริยยศทั้งหมด 6 ริ้วขบวน โดยรับหน้าที่อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ จากพระยานมาศสามลำคานจากริ้วขบวนที่ 1 ตรงบริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ไปยังพระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง



ในครั้งนี้เป็นการฝึกครูฝึกพลฉุดชัก ทั้งหมด 20 ราย เพื่อทำหน้าที่ฝึกหัดพลทหารที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพลฉุดชัก โดยเบื้องต้นในส่วนของริ้วขบวนที่ 2 จะมีพลฉุดชักรวม 329 นาย แบ่งเป็น พลฉุดชักราชรถน้อยหรือราชรถพระนำ 78 นาย พลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ 221 นาย กำลังพลเสริม 30 นาย



นอกจากนี้ยังมีส่วนเจ้าหน้าที่ประจำเกรินบันไดนาค อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ ประดิษฐานขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ จำนวน 1 ชุด ชุดละ 40 นาย และอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถ จำนวน 40 นาย เพื่อเข้าสู่ริ้วขบวนที่ 3 อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนราชรถปืนใหญ่ เพื่ออัญเชิญเวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ พลสำรองประจำเกรินบันไดนาค 10 นาย ช่างซ่อมฉุกเฉิน 20 นาย สำหรับ คุณสมบัติของพลทหารที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นพลฉุดลากนั้น จะต้องมีส่วนสูง 170 เซนติเมตร อายุไม่เกิน 48 ปี ดัชนีมวลกายรวมอยู่ที่ 18-24 ซึ่งจะต้องไม่อ้วนหรือผอมเกินไป รวมถึงจะต้องไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกและจะประกาศผลต่อไป



 การฝึกครูฝึกพลฉุกชัก จะใช้เวลา ประมาณ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน – วันที่ 8 พฤษภาคม หลังจากนั้นครูฝึกเหล่านี้จะลงไปฝึกพลทหารที่ผ่านการคัดเลือกเป็นพลฉุดชักโดยแบ่งเป็นฝึกในพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก และไปฝึกที่หน่วยขึ้นตรงของกรมสรรพาวุธทหารบก ในพื้นที่จ.สระบุรี โดยจะมีทั้งหมด 7 ท่า ได้แก่ 1.ท่าตรง 2.ท่าพัก 3.ท่าหันอยู่กับที่ 4.ท่าถวายบังคม 5.ท่าหยิบเชือกและวางเชือก 6.ท่าเดินปกติและท่าหยุด 7.ท่าเดินตามจังหวะเพลงพญาโศกลอยลมและท่าหยุด ทั้งนี้ท่าฉุดชักทั้งหมดได้มีการศึกษาจากเอกสาร และสื่อต่างๆ ของสำนักพระราชวัง แต่เพิ่มเติมท่าทางของทหารเข้าไปเพื่อความพร้อมเพรียง และสวยงาม



ในส่วนพลฉุดชักในริ้วขบวนที่ 2 จังหวะการเดินจะต่างจากกองเกียรติยศและทหารนำเล็กน้อย เนื่องจากพลฉุกชักต้องรับน้ำหนักพระมหาพิชัยราชรถ ที่มีน้ำหนักถึง 14 ตัน ส่วนท่าตรงจะต่างจากท่าปกติโดยให้พลฉุดชักยืนก้มหน้า สงบและสำรวม เน้นความเป็นระเบียบและพร้อมเพรียง และกำหนดระยะความยาวของก้าวให้สั้นลง เพื่อให้ระยะเวลาในการเดินไปยังพระเมรุมาศยาวขึ้น

ข่าวทั้งหมด

X