หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบ พระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พระราชฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน และ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน
โดยสาระสำคัญในการเพิ่มสิทธิประโยชน์กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจากเดิม 200 บาท เป็น 300 บาท กรณีนอนพักรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่วันแรกที่เข้ารักษาตัว และเพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 3,000 บาท เมื่อส่งสมทบครบ 6 เดือน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มทางเลือกใหม่ กรณีนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ได้รับเงินทดแทน การขาดรายได้วันละ 300 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร อัตราคนละ 200 บาทต่อเดือน คราวละ 2 คน กรณีชราภาพเงินบำเหน็จชราภาพ หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มเป็นจำนวน 10,000 บาท
โดยข้อดีของ การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือไม่ต้องตรวจสุขภาพ และยังสามารถใช้สิทธิร่วมกับการรักษาบัตรทองได้ โดยไม่ต้องเลือกใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และ หากขาดเงินสมทบ ยังเป็นสมาชิกต่อได้ และรัฐบาลร่วมสมทบจ่ายเงินกับผู้ประกันตนด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบสูงถึง 21 ล้านคน โดยกระทรวงแรงงาน เตรียมขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุม แรงงานนอกระบบ ซึ่งในปีแรก จะนำร่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ใน 3 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ส่วนในระยะยาวคาดใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี