รฟม.แจงทำสัญญาเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินกับบริษัทเดิมช่วยลดงบประมาณได้เกือบหมื่นล้านบาท

24 เมษายน 2560, 12:24น.


การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงกรณีการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วง หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ กรณีที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่าการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีอีเอ็ม) เป็นการทำลายรายได้ของรัฐอย่างมหาศาล และอาจจะมีการทุจริตในการทำสัญญา โดยเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายเดิม




 


นายธีพันธ์ เตชะศิรินุกุล รักษาราชการแทนผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า การว่าจ้างบีอีเอ็มเดินรถต่อเนื่องไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชนผู้เดินรถรายเดิม แต่จะทำให้ผู้โดยสารได้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการติดตั้งระบบเดินรถ ไปจนถึงการซ่อมบำรุงใหญ่ที่คิดเป็นเงินกว่า 9,800 ล้านบาท โดยยืนยันว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 42 ยังมีสาระสำคัญที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันคือให้เดินรถต่อเนื่อง โดยการเจรจากับผู้ให้บริการรายเดิม 




 


ขณะที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า การแบ่งปันผลประโยชน์แบบ IRR ทำให้อัตราผลตอบแทนภายใน อยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับการประกอบการชนิดอื่น ส่วนการให้สิทธิ์ประโยชน์ทางการลงทุน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้มีรายได้ถึงในระดับของอัตราผลตอบแทนเร็วขึ้น 2-3 ปี ในขณะที่การให้พื้นที่ภายในศูนย์บำรุงห้วยขวางเพิ่มอีก 20 ไร่ ก็เพื่อเป็นการรองรับขบวนรถที่จะต้องมาให้บริการเพิ่มอีก 18 สถานี


 


...


ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี
ข่าวทั้งหมด

X