การหาตลาดรองรับผลผลิตข้าวนาปรังที่กำลังออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายนนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ข้าวไทยเร่งด่วนในช่วง 3 เดือนนี้ คือระหว่างเมษายน-มิถุนายนนี้ ที่จะเน้นตลาดที่มีโอกาสและแนวโน้มจะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น อาทิ จีน ไนจีเรีย โคเปนเฮเกน สหรัฐฯ และแคนาดา และให้เร่งส่งมอบข้าวตามสัญญาขายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี กับจีน ตามสัญญา 1 ล้านตัน ที่มีการตกลงราคาซื้อขายข้าวงวดที่ 2-4 ปริมาณรวม 3 แสนตัน รวมไปถึงการเร่งขายข้าวให้กับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่ยังมีความต้องการนำเข้าข้าว ขณะที่เอกชนสามารถขายข้าวให้อิหร่านได้แล้ว 4 หมื่นตัน มีกำหนดส่งมอบเดือนมิถุนายนนี้ และคาดว่าจะซื้ออีก 1-3 แสนตันภายใน 18 เดือน โดยไทยมีโอกาสขายข้าวให้อิหร่านได้มากขึ้น หลังจากที่หน่วยงานจัดซื้อภาครัฐอิหร่าน (GTC) สนใจนำเข้าข้าวในโควตาภาครัฐเพื่อขายให้คนมีรายได้น้อยในปริมาณราว 7 แสนตัน
ส่วนสถานการณ์เงินทุนหลังธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง สั่งการให้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นางสาวอุปมา ใจหงษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สบน. เปิดเผยว่า การส่งสัญญาณของ เฟดอาจส่งผลให้ตลาดทุนและตลาดเงินเกิดความผันผวนได้ จึงกำชับให้ติดตามภาวะตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับแผนระดมทุนต้องมีความรอบคอบ โดยในครึ่งปีหลังของปีนี้ มีแผนที่จะทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำพันธบัตรรัฐบาลที่ถือครองอยู่มาแลกเปลี่ยนเป็นพันธบัตรรุ่นใหม่ที่มีระยะยาว และเป็นทางเลือกให้นักลงทุนระดมเงิน รวมถึงสามารถช่วยสร้างสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ โดยในระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 15,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราดอกเบี้ย ขณะที่พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นอายุ 3 ปี และ 7 ปี ซึ่งจะเปิดขายถึงวันที่ 21 เมษายนนี้ ผู้สนใจยังสามารถซื้อได้ โดยยังมีวงเงินเหลืออีกราว 2,000 ล้านบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีจำนวน 6 ล้าน 9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.96 ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 3 หมื่น 5 ร้อยล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
กรณีรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการ ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ขสมก.ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ส่งให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากบริษัทเบสท์รินซึ่งเป็นคู่สัญญาไม่สามารถระบุต้นกำเนิดของรถได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถส่งมอบรถทั้ง 489 คันได้ตามแผนที่กำหนด โดยในวันที่ 26 เมษายนนี้ จะนำเรื่องรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ได้รับทราบ พร้อมร่าง TOR การจัดซื้อรถเมล์ NGV ใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ด้านที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ กกอ. เปิดรายชื่อมหาวิทยาลัย 10 แห่งที่มีมาตรฐานหลักสูตรต่ำกว่ามาตรฐานอุดมศึกษาสถาบันอุดมศึกษา นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ กกอ. เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหาเรื่องหลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์, หลักสูตรศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม, หลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย, หลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาและคอมพิวเตอร์, หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และหลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์, หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง, หลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและนาฏศิลป์
มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต, หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต, หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต
วิทยาลัยทองสุข 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต, หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน, หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
สำหรับหลักสูตรนอกที่ตั้งมี 5 มหาวิทยาลัย 78 หลักสูตร ดังนี้ มหาวิทยาลัยปทุมธานี 15 ศูนย์ 26 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 1 ศูนย์ 2 หลักสูตร, วิทยาลัยทองสุข 7 ศูนย์ 11 หลักสูตร, สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 5 ศูนย์ 22 หลักสูตร และ สถาบันรัชต์ภาคย์ 11 ศูนย์ 17 หลักสูตร นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยราชธานี ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ส่งข้อมูลตามที่ กกอ.แจ้ง
..