หลังมีบุคคลโพสต์คลิปและข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ค) โดยมีข้อสงสัยว่า มีบุคคลแอบอ้างตนเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ขอตรวจค้นยาเสพติด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2560 นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) ระบุแนวทางปฏิบัติของ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการตรวจค้นยาเสพติด โดยใช้บัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สามารถทำได้ โดย กรณีการค้นเคหสถานหรือสถานที่ เมื่อปรากฏว่ามีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่หรือมีทรัพย์สิน ซึ่งมีไว้เป็นความผิดซุกซ่อนอยู่ หากรอหมายค้นอาจล่าช้าบุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ทำลาย เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจค้นโดยใช้บัตร เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้ คือ ก่อนลงมือตรวจค้น ต้องแสดงความบริสุทธิ์และแสดงบัตรประจำตัว เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ต่อผู้ครอบครอง ผู้ดูแลหรือบุคคลในครอบครัวนั้น (แสดงความบริสุทธิ์ หมายความว่า ทำให้เห็นว่าไม่ได้ซุกซ่อนสิ่งผิดกฎหมายไว้กับตัว เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ก่อนเข้าทำการตรวจค้น) ,การค้นให้ค้นต่อหน้าบุคคลที่ครอบครองเคหสถานหรือสถานที่นั้น และ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ทำการค้น ต้องทำบันทึกการค้นระบุเหตุที่ทำให้สามารถเข้าค้นได้มอบให้ไว้แก่ผู้ครอบครองเคหสถานหรือสถานที่นั้น ตามแบบที่กำหนด จากนั้น ต้องทำรายงานตามแบบที่กำหนดพร้อมสำเนาบันทึกการค้นให้เลขาธิการ ป.ป.ส. ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันค้น
สำหรับ กรณีการค้นบุคคลหรือยานพาหนะ ก่อนลงมือตรวจค้น เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ต้องแสดงความบริสุทธิ์และแสดงบัตรประจำตัว เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ต่อผู้ที่จะถูกค้นหรือต่อผู้ครอบครองยานพาหนะที่จะตรวจค้น (กรณีค้นตัวสุภาพสตรี ต้องให้เจ้าพนักงานที่เป็นสุภาพสตรีเป็นผู้ค้น) เมื่อค้นเสร็จให้ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. บันทึกรายละเอียดแห่งการค้นและบัญชีสิ่งของที่ค้นได้ แล้วอ่านให้บุคคลผู้ถูกค้นฟังและให้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ หากบุคคลนั้นไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้หมายเหตุไว้ในบันทึกการค้น เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ต้องทำรายงานตามแบบที่กำหนดพร้อมสำเนาบันทึกการค้นให้ เลขาธิการ ปป.ส. ทราบภายใน 15 วันนับแต่วันค้น
เลขาธิการปปส. ระบุว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 กำหนดอำนาจของ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไว้ดังนี้ การเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดซุกซ่อนอยู่ การค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ที่มีเหตุสงสัยว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ การจับบุคคลใดๆที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สอบสวนผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดๆ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งบัญชี เอกสารหรือวัตถุใดๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา และ ตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ การขอให้บุคคลใดช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามข้อ 1 – 8 ส่วนการขอข้อมูลข่าวสารซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กโทรนิกส์ โดยขออนุญาตต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ควบคุมผู้ถูกจับไว้เพื่อสอบสวนได้ไม่เกิน 3 วัน โดยไม่นับรวมเป็นเวลาควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ดังนั้น หากพบผู้มีพฤติการณ์ที่ต่างจากนี้ และน่าสงสัยว่า มีการแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งมายังสายด่วน ป.ป.ส. โทร 1386