ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ พ.ศ...ตามที่คณะกรรมาธิการการศาสนาฯ เสนอ โดยมี นายออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาร่วมประชุมเพื่อรับฟังการพิจารณาด้วย เพื่อมีเสนอแก้เป็นการเสนอแก้ไขมาตรา 7 โดยให้ใช้ข้อความว่า“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสัฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลว่า เป็นการขอแก้ไข ประเด็นเดียวคือ มาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช กล่าวคือให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาพระสังฆราช เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีและให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ต่อมา สนช. ได้สอบถามนายออมสิน ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลว่า รัฐบาลติดใจที่จำนำร่างพระราชบัญญัติ ไปพิจารณาก่อนหรือไม่ ซึ่งนายออมสินระบุว่าไม่ติดใจและให้ดำเนินการต่อไป
สนช. จึงเดินหน้าพิจารณาต่อ โดยนายสมพร เทพสิทธา สนช. ได้อภิปรายสนับสนุนว่า การให้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชทำตามอาวุโส ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสถาปนา เมื่อปัญหาเกิดจากกฎหมายก็ควรแก้ไขกฎหมาย การที่กฎหมายปี 2535 กำหนดเช่นนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่าลงยิ่ง สนช. จึงมีหน้าที่แก้ไขให้เหมาะสม และไม่ควรปล่อยให้เรื่องการสถาปนาพระสังฆราชให้เนิ่นนานต่อไป และควรทำให้รีบด่วน และเสนอขอให้ สนช. ประชุมรวดเดียวสามวาระ
นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่า กฎหมายปี 2535 เกิดความปราถนาว่าจะได้ไม่มีการตีความว่าจะใช้ความอาวุโสทางพรรษาหรืออาวุโสทางสมณศักดิ์ แต่ต่อมาก็เกิดปัญหาติดล็อกว่าต้องใช้ความอาวุโสโดยสมณศักดิ์เท่านั้น เมื่อเราทราบปัญหาจึงต้องแก้เช่นเดียวกับทางโลก หากยึดหลักอาวุโสโดยสมณศักดิ์ อธิบดีก็ไม่สามารถเป็นปลัดได้ เพราะต้องให้รองปลัดเป็นก่อน
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 1 (วาระรับหลักการ) โดยมีเสียงรับหลักการ 184 เสียง งดออกเสียง5เสียงต่อมา นายสมชาย แสวงการ สนช. เสนอให้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ โดยไม่มีใครแย้ง และไม่มีผู้อภิปรายในวาระสอง (วาระแปรญัตติ) จากนั้นจึงมีการลงมติในวาระที่ 3 (ลงมติเห็นชอบหรือไม่) โดยที่ประชุมมีมติ เอกฉันท์ เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ทำให้การแก้ไขร่างพรบ.สงฆ์ ผ่าน 3 วาระรวด โดยใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 1 ชั่วโมง