การรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง โดยมีตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และตัวแทนพรรคการเมืองบางส่วน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งแรกหลังมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเป็นครั้งแรกในการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายลูก ซึ่งกรธ. จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เดี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากฝ่ายที่เกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งแม้แต่ละเรื่องอาจมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันแต่ขออย่าให้เป็นความขัดแย้ง และกรธ.นำความความเห็นของทุกคนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยไม่จำกัดว่าต้องมาจากฝ่ายใด หรือพรรคการเมืองใดเพื่อนำความเห็นไปประกอบการจัดทำกฎหมายลูก โดยจะนำความคิดเห็นในวันนี้มาพิจารณาเบื้องต้น 4 ฉบับ
จากนั้นนายประวิช รัตนเพียร กกต. กล่าวถึงหลักการของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า กกต.ได้รับมอบหมายให้ยกร่างกฎหมาย แต่ กรธ.จะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ กกต.กำหนด ส่วนการให้ใบเหลือง แดง เป็นอำนาจที่ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่ง กกต.ก็นำมาบัญญัติไว้จนครบ โดยนำบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมามาปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสถานการณ์การเมือง โดยหากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ก็ให้ กกต. มีอำนาจสามารถจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จได้
ส่วนความผิดของนักการเมืองว่ากันด้วยตัวบุคคลไม่ใช้ความผิดของกรรมการบริหารพรรค ขณะเดียวกัน กกต. ยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติม เช่น การดีเบตของผู้สมัคร ที่ กกต. ให้เวลาพรรคขนาดใหญ่แต่ไม่เปิดโอกาสให้พรรคเล็กก็จะถูกตำหนิ ซึ่งหาก กกต. จัดดีเบตเองก็ไม่ได้รับความสนใจ จึงทดลองแนวคิดให้มีการจัดดีเบต เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลของผู้สมัคร การขยายเวลาให้ประชาชนลงเสียงถึง 18 นาฬิกา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสลงคะแนนให้มากขึ้น ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดเป็นสิ่งที่ยอมให้มีการวิจารณ์ได้ เพื่อปรับปรุงการทำงาน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ซึ่ง กกต. มีความมั่นใจในการจัดทำกฎหมายจากประสบการณ์การทำงานตลอด 18 ปี ที่ผ่านมา
ด้านพ.ต.อ.จรุงวิวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต. กล่าวว่า กกต. ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองเป็นของประชาชนที่แท้จริง การกำหนดนโยบายของพรรคและการส่งผู้สมัครต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ด้านเงินสนับสนุนพรรค ให้มีการบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองโดยสามารถหักภาษีได้สองเท่า เพื่อจูงใจการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค
นอกจากนี้ยังกำหนดว่าหากมีการเลือกตั้งทั่วไป หากพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งให้ถือว่าพรรคการเมืองสิ้นสภาพ และกำหนดให้การยุบพรรคมาจากเหตุร้ายแรงโดยการล้มล้างการปกครองและระบอบประชาธิปไตยเท้านั้น ในกรณีอื่นให้ดำเนินการกรรมการบริหารพรรคเท่านั้นเนื่องจากพรรคการเมืองเป็นของประชาชนไปแล้ว และให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นพรรคการเมืองต่อไป ส่วนพรรคการเมืองที่ไม่มีสาขาพรรคให้ดำเนินการภายใน 1 ปีไม่เช่นนั้นถือว่าสิ้นสภาพไป ส่วนเรื่องการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนแปลงสมัครด้วยตนเองหรืออินเตอร์เน็ตก็ได้หลังจากนั้นให้หัวหน้าพรรคหรือสมาชิกพรรคจับเบอร์เบอร์เดียวทั้งจังหวัด ด้านเวลาลงคะแนนเสียงตั้งแต่ 08.00 น. - 16.00 น. แต่วันเลือกตั้งล่วงหน้าให้ขยายเวลาสิ้นสุดถึง 18.00 น.
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. เสนอว่า ข้อเสนอของ สปท. ไม่ได้มีเจตนาต่อว่าพรรคการเมืองนักการเมืองหรือกลั่นแกล้งพรรคการเมืองและไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลองแต่เป็นการเดินหน้าเข้าคลอง โดยนำปัญหาเป็นตัวตั้งทั้งเรื่องการทุจริต ซื้อเสียงโกงการเลือกตั้ง เพราะจากความจริงในอดีตที่เกิดขึ้นคนดีๆ ที่ต้องการเข้าสู่การเมืองแพ้การเลือกตั้ง จึงต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ที่ผ่านมาการเมืองเป็นการลงทุนในธุรกิจการเมือง ซึ่งสิ่งสำคัญคือสมาชิกต้องเป็นผู้สมัครในพรรคนั้นจริงๆ ไม่ใช่การขอบัตร จึงเสนอให้เสียค่าสมาชิกไม่เกิน 200 บาท โดยให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเท่ากับจำนวนที่สมาชิกจ่าย โดยหัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบหากข้อมูลสมาชิกพรรคไม่เป็นความจริง การตั้งสาขาพรรคมีการติดป้ายแต่ไม่ได้เป็นการบริหารที่เป็นสาขาพรรคอย่างแท้จริง จึงควรมีกฎหมายกำกับที่ไม่ใช่เอื้อแต่กับพรรคขนาดใหญ่ ด้านข้อเสนอกฎหมายเลือกตั้งคือ การใช้เงินลงทุนในธุรกิจการเมือง จึงต้องจำกัดการใช้เงินตามสภาพความเป็นจริง เช่น จำกัดจำนวนป้ายหาเสียง การใช้เงินในการเลือกตั้งที่สามารถควบคุมได้ ส่วนกรณีที่นักการเมืองต้องพบชาวบ้านที่ต้องจ่ายเงินช่วยชาวบ้านในงานต่างๆ เช่น งานแต่งงานหรืองานศพจึงห้ามจ่ายเงินใส่ซองช่วยงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของนักการเมืองที่จะนำไปสู่การถอนทุนภายหลัง