กทม.ติดป้ายรื้อถอนบ้านป้อมมหากาฬ รองปธ.ชุมชนย้ำอีก 44 หลังไม่ย้าย

15 สิงหาคม 2559, 17:05น.


การรื้อย้ายบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ  นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา นำเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา สำนักงานเขตพระนคร และเจ้าหน้าที่เทศกิจ ลงพื้นที่ นำป้ายประกาศติดบริเวณรอบป้อมมหากาฬ 5 จุด ชี้แจงขอความร่วมมือในการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ ก่อนวันที่ 3 ก.ย. ตามคำสั่งศาล นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า เป้าหมายวันนี้คือการติดประกาศด้านนอกเท่านั้น เนื่องจากชุมชนรับทราบนโยบายแล้ว จากนั้นจะทำหนังสือส่งถึงประชาชนที่ยังอยู่ในชุมชน ยืนยันว่า กทม.จะรื้อเพียง 12 หลังแรกที่ยินยอมให้รื้อถอน ในวันที่ 3ก.ย.นี้



ส่วนกรณีมติคณะกรรมสิทธิมนุษยชน ระบุถึงทางออกที่สามารถแก้กฎหมายคงดำเนินต่อไป แต่การรื้อถอน กทม.ก็ต้องปฏิบัติตามตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างความเข้าใจมีมาตลอด ขณะที่ชุมชนได้หารือกับผู้บริหารอยู่แล้ว แต่ตั้งเป้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้ง 56 หลังให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า จะนำหนังสือที่ กท 0908/1733 ลงวันที่ 15 ส.ค. ส่งเป็นจดหมายถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร เรื่องขอความร่วมมือในการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เวนคืน บริเวณป้อมมหากาฬ เนื่องจาก กทม.มีความจำเป็นต้องเข้าใช้พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่สั่งการและตามนโยบายรัฐบาลในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อจัดสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมอนุรักษ์โบราณสถาณของชาติ สำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อนันทนาการประกอบกิจกรรมการละเล่นทางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงขอความร่วมมือโปรด หรือถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของสัมภาระออกจากพื้นที่ เพื่อให้กทม.สามารถเข้าดำเนินการปรับปรุงพื้นที่โดยสะดวก อย่างไรก็ตาม กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา ยินดีสนับสนุนช่วยเหลือในการรื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของสัมภาระ ประชาชนสามารถแจ้งความประสงค์กับสำนักงานเขตพระนครได้ภายในวันที่ 3 ก.ย. หากเลยเวลาตามที่กำหนด กทม.มีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือถอนอาคารตามอำนาจหน้าที่ต่อไป





ด้านนายพรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ยืนยันว่า อีก 44 หลังคาเรือนที่เหลือ ซึ่งมีประชาชน 218 คน จะไม่ย้ายออกเพราะอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีทะเบียนบ้าน หากจะรื้อถอนบ้านก็เอาชีวิตไปด้วย ขณะที่ 12หลังแรกที่ยินยอมให้ กทม.รื้อ เป็นเพราะ กทม.เพิ่มเงินค่ารื้อถอนให้อีก 50,000 บาท อีกทั้ง 12 หลังดังกล่าวเพิ่งย้ายมาอยู่หลังปี 2516 ไม่ได้อยู่ต่อสู้เหมือนกับ 44 หลังคาเรือนที่เหลือ ที่ร่วมกันต่อสู้มากว่า 24 ปี



 

ข่าวทั้งหมด

X