การอบรมการทำข่าวเกี่ยวกับปัญกาการจราจรในประเทศไทย นพ. ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางท้องถนน เป็นข่าวที่อยู่ใน 10 อันดับข่าวสะเทือนใจ มี 3 ปัจจัยที่ทำให้อุบัติเหตุ ได้แก่ คน ร้อยละ 95 ถนน สิ่งแวดล้อม ร้อยละ 28 รถ ร้อยละ 8 โดย 1 ใน 4 หรือร้อยละ 26 1ของคนไทยมักมองว่าอุบัติเหตุเป็นคราวเคราะห์ เป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้ และเป็นเรื่องของโชคชะตา
แต่ในประเทศญี่ปุ่น ในอดีต มีผู้เมาแล้วขับเยอะมาก จึงมีการแก้กฎหมายจากขับรถโดยประมาทเป็นขับรถอันตรายที่มีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุก 20 ปี โดยข้อหาขับรถอันตราย จะประกอบด้วย เมาแล้วขับ ขับรถด้วยความเร็วสูง ขับแซงอย่างน่ากลัว หรือขับจี้ กดดันคันหน้า รวมไปถึงไม่มีทักษะการขับขี่ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงด้วย
ส่วนการรายงานข่าวของประเทศไทย มีข้อบกพร่องที่ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่แท้จริง โดยสื่อมวลชน มักจะเป็นผู้ครอบงำสังคมในเรื่องของอาถรรพ์ เรื่องลี้ลับ หรือไม่ก็เป็นความผิดพลาดของผู้ขับรถ โดยขาดข้อมูล ขาดข้อเท็จจริง และต้นเหตุของปัญหา อีกทั้งยังเหมารวม ชวนสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้ วนเวียนอยู่กับเรื่องจิตสำนึก
นพ. ธนะพงศ์ ระบุว่า สื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญในการแก้ทัศนคติ โดยจะต้องปรับแนวคิดพื้นฐานก่อนว่าอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้และไม่ใช่เรื่องของเคราะห์กรรม แต่เกิดด้วยปัจจัยอื่นๆ เช่น วิศวกร ออกแบบถนนผิดพลาด มีทางเลี้ยว ทางโค้ง ไม่มีป้ายส่งสัญญาณชัดเจน กลางคืนไม่มีไฟส่องสว่าง ไม่มีป้ายระบุความเร็ว ฯลฯ
ด้านดร.กัณวีร์ กษิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศวปถ. เปิดเผยถึง สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนว่าจากการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตกว่า 21,000 ศพ จากการคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) พบว่าจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน สกลนคร พัทลุง แพร่ เชียงราย เลย ยะลา บุรีรัมย์ จะมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด เนื่องจาก ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดจะใช้ยานพาหนะเป็นรถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยานเป็นส่วนใหญ่ ระบบการสาธารณสุขไม่ทั่วถึง เมื่อเกิดเหตุจึงนำไปรักษาตัวไม่ทัน อีกทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ในการจับกุมก็ยังไม่มี สาเหตุ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่มาจากขับรถเร็ว รองลงมาคือ เมาแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก ดร.กัณวีร์ ยอมรับว่า ส่วนใหญ่รถที่พุ่งชนต้นไม้ ผู้ขับขี่หรือผู้ที่นั่งมาด้วยมักจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที จากการทดสอบพบว่าต้นไม้ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง 10 เซนติเมตร ก็สามารถทำให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตได้
สำหรับรถโดยสารสาธารณะ พบว่าสถิติรถบัส 2 ชั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เนื่องจากรถมีความสูง กรมการขนส่งทางบก จึงระงับการออกใบอนุญาตรถบัส 2 ชั้น รองลงมาคือรถตู้ ที่เมื่อเกิดเหตุแล้วส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ในรถ มักจะหนีออกมาไม่ทัน เพราะมีประตูทางเดียว และหน้าต่างมีขนาดเล็ก ผู้ที่ตัวใหญ่ไม่สามารถออกมาได้ โดยความสูญเสียทางเศรษฐกิจ พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 1 คน มีมูลค่าถึง 4,000,000 บาท เนื่องจาก ผู้ที่เสียชีวิตอาจจะเป็นกำลังสำคัญในการหารายได้เข้าสู่ครอบครัว จากการวิจัย ยังพบอีกว่า หากครอบครัวใดมีผู้เสียชีวิต หรือพิการจากอุบัติเหตุทางท้องถนน ครอบครัวนั้นจะมีปัญหาความยากจนตามมา
แฟ้มภาพ