หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนไม่รับคำถามพ่วงและร่างรัฐธรรมนูญ

27 กรกฎาคม 2559, 15:02น.


การแถลงจุดยืนต่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแถลงวันนี้ไม่ใช่มติพรรคเพราะไม่ได้ผ่านการประชุมและการเห็นชอบจากสมาชิกพรรค แต่เป็นการแสดงจุดยืนในอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า ไม่รับคำถามพ่วงและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ตอบโจทย์ประเทศและไม่สามารถทำให้ประเทศก้าวพ้นได้ เพราะเชื่อว่าทิศทางการพัฒนาประเทศต้องอาศัยหลักการประชาธิปไตย และต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนและท้องถิ่น ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เดินไปในทิศทางนี้ และในเรื่องสิทธิของประชาชน สิ่งแวดล้อม ชุมชน กฎหมาย ก็มีน้อยกว่าในรัฐธรรมนูญปี 2550 

ขณะที่เรื่องความขัดแยังในสังคม นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า ต้องแก้ด้วยเรื่องกระบวนการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วางน้ำหนักถ่วงดุลให้วุฒิสภาที่มาจากคัดเลือกกันเองและการแต่งตั้ง ซึ่งมองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้และยังทำให้สร้างความขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นมา อีกทั้งการที่แก้ไขกฎกติกาในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากจึงทำให้ความขัดแย้งแก้ไขได้ยาก ขณะเดียวกันมองว่าในการทำประชามติมีการใช้วิธีที่ไม่ปกติในการแสดงความเห็นอย่างเสรี จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามในการทำประชามติในครั้งนี้ และมองว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง 

ส่วนการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น มองว่าประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการกำจัดนักการเมืองโกง ที่อ่อนแอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ให้มีการอุทธรณ์ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองที่ง่ายขึ้น คาดว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านคนกลุ่มแรกที่ได้ประโยชน์คือจำเลยในคดีโครงการรับจำนำข้าว เพราะหากตัดสินว่าผิด ก็จะสามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์คดีในรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลย นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ถือเป็นเรื่องที่ดีของประเทศ พร้อมขอสนันสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นผู้นำในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ดีกว่าฉบับนี้เพราะมั่นใจว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตระหนักว่าเกิดจากสาเหตุใด และกลับมาทบทวนจุดแข็งจุดอ่อนและฟังเสียงของประชาชนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เสนอว่าให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาเป็นจุดเริ่มต้นเพราะได้ผ่านความเห็นชอบในการทำประชามติแล้ว และมีบทบัญญัติในการมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจนที่สุด แต่ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ต้องมีการบัญญัติในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการปฏิรูปอย่างชัดเจนอย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การแถลงจุดยืนในครั้งนี้ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง แต่ยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง 



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี 

ข่าวทั้งหมด

X