ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมไทย ประจำเดือนมิถุนายน นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 85.3 ลดลงจากระดับ 86.4 ในเดือนพฤษภาคม มาจากความกังวลต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศ ยอดสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมลดลงจากเดือนก่อนนี้ ประกอบกับ ปัญหาการแข่งขันด้านราคา การขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ความกังวลเรื่องความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยน รวมทั้งผลกระทบจากการลงประชามติของสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม อาทิ อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแก้วและกระจก มีการปรับตัวลดลง 74.8 จากเดือนพฤษภาคม อุตสาหกรรมขนาดกลาง อาทิ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุสาหกรรมการพิมพ์ มีการปรับตัวลดลง 84.1 จากเดือนพฤษภาคม ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคมนาคม อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก มีการปรับตัวขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 96.0 ซึ่งในระดับภูมิภาค พบว่า ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ มีดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมิถุนายน ปรับตัวลดลง มีเพียงภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนดัชนีอุตสาหกรรม คาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 99.8 จากระดับ 98.7 เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน จนทำให้สหรัฐอเมริกาขยับสถานะของประเทศไทยจากระดับ tier 3 เป็น tier 2 ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าอาหารทะเลไทย โดยผู้ประกอบการได้เสนอข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในเดือนมิถุนายน ประกอบด้วย เร่งสนับสนุนพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สนับสนุนผู้ประกอบการ SME นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ ส่งเสริมการใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. เพื่อป้องกันสินค้าไม่ได้คุณภาพจากต่างประเทศ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ แก้ปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดย่อม และเร่งกระตุ้นพัฒนาการค้าชายแดน โดยเฉพาะประเทศเมียนมา