วันอาสาฬหบูชา/กกต.ย้ำเสวนาร่างรธน.ต้องไม่บิดเบือนไม่ประชด/มท.เปิดตรวจสอบรายชื่อประชามติผ่านเว็ปไซด์*

19 กรกฎาคม 2559, 07:25น.


ช่วงเช้าวันนี้ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 90 รูป เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2559 ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์



และในช่วงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ประกอบพิธีเวียนเทียนเนื่องในงานวันอาสาฬหบูชา โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานและร่วมประกอบพิธี ณ พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม



ก่อนหน้านี้ นายสุวพันธุ์ เปิดเผยว่า จะมีการหารือกับคณะสงฆ์กรณีการดำเนินคดีพระธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีร่วมกันยักยอกทรัพย์และรับของโจร โดยระบุว่า การดำเนินการตามหมายจับเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ส่วนเรื่องสำนวนคดีอยู่ที่อัยการ แต่ก็ยังมีช่องทางที่คณะสงฆ์สามารถช่วยดำเนินการได้ โดยเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ให้ความช่วยเหลือตามที่มติมหาเถรสมาคม (มส.) ระบุให้แก้ไขปัญหา กระทั่งได้ข้อยุติภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ



ใกล้ถึงวันประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคมนี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง เร่งการเผยแพร่เนื้อหา และเชิญชวนให้ประชาชนใช้สิทธิ์ออกเสียง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า นอกจากการให้มีรายการสนทนาผ่านสื่อโทรทัศน์แล้ว ยังมีการเปิดเวทีเสวนาด้วย ทั้งนี้ยังคงพบการบิดเบือนเนื้อหา และปล่อยข่าวลือเพื่อสร้างความเข้าใจผิดอีกหลายประเด็น เช่น บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค, เบี้ยผู้สูงวัย, การศึกษาฟรี 12 ปี, การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ, สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการรักษาอธิปไตยของชาติ รวมถึงประเด็นการเมืองซึ่งจะมีการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป



อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ย้ำว่า การเปิดเวทีเสวนา ควรดำเนินไปภายใต้บรรยากาศการพูดคุยกันที่เป็นสาระ ไม่มีการใช้สำนวนตีรวน เอาชนะ ปลุกระดม หรือเอาแต่ความสนุกสนาน



ส่วนการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย จะเริ่มทยอยตีพิมพ์ตั้งแต่ 21 กรกฎาคมเป็นต้นไป



น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญคือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ประชาชนบางส่วนอยากมีส่วนร่วมด้วยการแสดงความคิดเห็นก่อนลงประชามติ หากปิดกั้นอาจทำให้รู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ ดังนั้น ถ้าการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ควรเปิดโอกาสให้ดำเนินการไป และจริงๆ แล้วควรเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่กระบวนการร่าง แต่เมื่อขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้แล้ว การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นที่ไม่บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังจำเป็นอยู่ เพื่อจะเป็นโอกาสในการชี้แจงเหตุผล และให้ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจได้รับฟังข้อมูลประกอบการตัดสินใจ



นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการลงคะแนนวันที่ 7 สิงหาคม ผ่านช่องทาง www.khonthai.com โดยเพียงกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของตนเองลงในช่องด้านขวามือของหน้าเว็บไซต์ ก็จะบอกผลว่าต้องไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งที่ไหน โดยไม่ต้องเสียเวลาออกจากบ้านไปดูด้วยตนเอง โดยยืนยันว่าเว็บไซต์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีความปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลประชาชนจะถูกแก้ไขหรือลักลอบไปทำธุรกรรมที่เสียหาย



ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ รัฐบาลจะเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (เอสเอ็มอี เรสคิว เซ็นเตอร์)  ซึ่งเป็นการรวมทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มรูปแบบ  โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สสว. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน สมาคมธนาคารไทย โดยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาสามารถเข้าไปขอแบบฟอร์มเขียนขอความช่วยเหลือตามสาขาหน่วยงานที่มีมากกว่า 3,800 สาขาทั่วประเทศ เพื่อส่งมายังหน่วยกลั่นกรองแต่ละจังหวัด ช่วยเหลือต่อไป



จากนั้น ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษา รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะมีการนำเสนอระเบียบคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้กู้ยืมเงิน จากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม พ.ศ. ...ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหาด้านเงินทุน เข้าโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมของ สสว. วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยจะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่มีค่าอัตราดอกเบี้ย 5-7 ปี  โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นคือผู้ประกอบการยังประกอบกิจการอยู่, ต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิก สสว., เงินทุนที่ได้รับต้องนำไปพัฒนาต่อยอดพลิกฟื้นธุรกิจ ไม่ใช่นำไปจ่ายหนี้บุคคลที่ไม่ใช่หนี้ในการพัฒนาธุรกิจ 



..

ข่าวทั้งหมด

X