เปิดสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา/รัฐบาลยืนยันเปิดให้แสดงความเห็นรธน.*

18 กรกฎาคม 2559, 07:21น.


เช้าวันนี้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา “วันอาสาฬหบูชา” และพิธีเปิดงาน “ตลาดประชารัฐเพื่อประชาชน” ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ



ส่วนความเคลื่อนไหวในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งพบทั้งการทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ และการปล่อยข่าวเท็จ ซึ่งนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เชื่อว่า จะมีการกระทำด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อสร้างความสับสนในการลงประชามติหรือบิดเบือนเจตนารมณ์ในการลงประชามติเกิดขึ้นอีก



ทั้งนี้ กรณีพบการแจกจ่ายเอกสารที่มีเนื้อหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลเรื่องที่เกิดขึ้น ส่วนข้อเรียกร้องของนานาชาติให้เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นนั้น เราเปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว และเคยถามทางสหภาพยุโรป หรือ อียูด้วยว่า หากปล่อยให้มีการออกมาชุมนุมกันแล้วเกิดเผชิญหน้าปะทะกันอียูจะออกมารับผิดชอบหรือไม่ เขาก็บอกกลับมาว่าไม่รับผิดชอบ



นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ชี้แจงกรณีที่มีสำนักงานเขต ขอการสนับสนุนจากบริษัทห้างร้าน เพื่อลงโฆษณาในป้ายประชาสัมพันธ์ประชามติ ว่า ตามระเบียบของ กกต.เปิดช่องให้เอกชนสามารถสนับสนุนประชาสัมพันธ์ร่วมกับ กกต.ในการลงประชามติได้ แต่ต้องไม่เป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับเอกชนในเชิงธุรกิจมากเกินไป เพราะงบประชาสัมพันธ์ที่ กกต.ให้ในแต่ละพื้นที่ไม่เพียงพอ แต่หากจะดำเนินการต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.จังหวัด กกต.เขต โดยมีหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการ แต่หากเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ภายในจังหวัดเอง ถ้ามีการร้องเรียนในเรื่องของการเรียกรับผลประโยชน์โดยไม่ถูกต้อง หน่วยงานนั้น ๆ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ



เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ร่วมกับกลุ่มและองค์กรพันธมิตร จัดมหกรรมร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ "ใส่ใจประชามติ รัฐธรรมนูญกับอนาคตประชาชน"  ที่หอประชุมศรีบูรพา  ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ ลานประติมากรรมฯ หน้าหอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์



ส่วนการที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 11 หรือ อาเซมที่กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย และประธานาธิบดีซักเคีย แอลแบคดอร์จ แห่งมองโกเลียมอบม้าให้กับผู้นำประเทศทุกคนนั้น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอูลานบาตอร์ พิจารณาเรื่องการขนส่งม้ากลับมาประเทศไทย และมอบให้หน่วยทหารนำไปดูแลต่อไป



และความคืบหน้าการเรียกค่าชดใช้จากกรณีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจีจากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 6 คนนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการลงนามในหนังสือบังคับทางปกครอง คณะกรรมการกฤษฎีกาแนะนำว่า นายกรัฐมนตรีและ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ควรลงนามทั้งคู่ แม้สามารถลงนามคนเดียวได้ก็ตาม เนื่องจากตามข้อกฎหมายเขียนไว้ว่า เมื่อตั้งคณะกรรมการสอบต้องให้รัฐมนตรีในกระทรวงที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดลงนาม กรณีนายบุญทรงคือกระทรวงพาณิชย์ แต่นายกฯ ต้องลงนามด้วย เพราะยังมีการเขียนไว้ด้วยว่ากรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นรัฐมนตรีให้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการสอบ กรณีนี้จึงต้องลงนามทั้งคู่



กรณีที่กระทรวงพาณิชย์เรียกค่าเสียหาย 2 หมื่นล้านบาท มีการกำหนดแล้วว่าแต่ละคนต้องจ่ายค่าเสียหายเท่าได ซึ่งมีหลักการในการคำนวณอยู่ เท่าที่ทราบนายบุญทรงจ่ายค่าเสียหายน้อยที่สุด



สำหรับกรณีจีทูจีจำนวน 4 สัญญา ปริมาณ 6 ล้าน 2 แสนตัน มีนักการเมืองและข้าราชการ 6 คน ที่ถูกบังคับทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ นายบุญทรง, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์, พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ



*-*

ข่าวทั้งหมด

X