หลังจากที่นายเพเทอร์ พรือเกล (Mr. Peter Prügel) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยนำคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมันในประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-เยอรมัน และแนวทางการรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจใหม่ๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่ได้พบกับคณะนักธุรกิจเยอรมันในประเทศไทย จากบริษัทชั้นนำ จำนวน 58 ราย ซึ่งถือเป็นมิตรสำคัญของไทยและผู้ประกอบการของไทย ทั้งสองประเทศมีการค้าการลงทุนกันมานาน เยอรมันเป็นคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้าอันดับที่ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป มีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในเยอรมนีหลายราย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม เครื่องประดับ และห้างสรรพสินค้า ปัจจุบันมีบริษัทเยอรมันมากกว่า 600 บริษัทในประเทศไทย หวังว่าภาคเอกชนเยอรมัน จะขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในรูปแบบ Super Clusters เช่น การสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้า และรถไฟเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน และการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อู่ตะเภา
สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าไทยยึดมั่นในการดำเนินการตาม Roadmap โดยสร้างรากฐานด้วยการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปในระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โปร่งใส ปราศจากการทุจริต และมีธรรมาภิบาล ยืนยันว่า ไทยยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรี มุ่งส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง นโยบายเศรษฐกิจของไทย ว่าไทยต้องการพัฒนาสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล คือพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตควบคู่กับการส่งออก ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs )ไทยต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตโดยสร้างมูลค่าจากนวัตกรรม เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขัน
ด้านเอกอัครราชทูตเยอรมัน ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้เข้าพบในวันนี้ และยินดีที่ประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อย เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะนำประเทศเดินหน้าตาม Roadmap และไม่ว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร เยอรมันพร้อมจะเป็นเพื่อนกับประเทศไทย
ผู้แทนภาคเอกชนเยอรมัน 6 ราย เป็นผู้แทนคณะ กล่าวแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ คือ การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดยบริษัท BMW Group Thailand, การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการลงทุนในพลังงานทดแทน โดยบริษัท Retech Energy, ความร่วมมือด้านการเกษตร โดยบริษัท Bayer CropScience Business Group, ความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา โดยบริษัท Mercedes-Benz, การส่งเสริมการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา โดยบริษัท Bosch Automotive และความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยบริษัท Siemens
นักธุรกิจชั้นนำจากเยอรมัน ขอบคุณนายกรัฐมนตรี และกล่าวว่าเยอรมันเข้าใจสถานการณ์ของไทยเป็นอย่างดี ยินดีที่จะลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาการค้าการลงทุน หลายบริษัทแสดงความประสงค์ที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทย และยินดีถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสาขาที่เยอรมันมีความเชี่ยวชาญ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทย เยอรมันเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ และยังมีศักยภาพในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข การท่องเที่ยว การบริการ เป็นต้น ภาคเอกชนเยอรมันหวังให้รัฐบาลผลักดันมาตรการที่เอื้อต่อการลงทุนของเยอรมนีในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนเยอรมันในไทยต่อไป
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข
CR:แฟ้มภาพ