การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการทำประชามติ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.นายอุดม รัฐอมฤต คณะกรรมการการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเผยกับจส.100 ว่า ท่าทีของทุกฝ่ายที่ร่วมหารือเป็นไปด้วยดี เป็นการพูดคุยในประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติม มีแนวโน้มอาจจะเปิดเวทีแบบนี้อีกแต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ส่วนการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างการอบรมครู ข. ให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงจะลงพื้นที่ คาดว่า กระทรวงมหาดไทย จะอบรมครู ข.ได้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้ จากนั้นเดือน มิ.ย.ลงพื้นที่ กรธ. ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับครูในระดับต่างๆ และในเดือนก.ค. การลงพื้นที่ทำความเข้าใจจะมีความเข้มข้นมากขึ้น และมีแนวคิดที่จะเปิดคอลเซ็นเตอร์ สอบถามข้อมูล แต่ต้องรอดูท่าทีก่อน
ส่วนกระบวนการที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญ นายอุดม เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ตามมาตรา 39/1 มีการตั้งคณะกรธ. เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558 จากนั้น 6 ต.ค. 2558 กรธ. ทุกคนเริ่มทำงานทันที ตามมาตรา 35 กำหนดว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญมีสาระสำคัญ 10 ประการ ได้เขียนคงสิ่งที่เคยมีไว้เช่นเดิม เช่น ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนอีก 8ข้อ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามทุจริต การหามาตรการในการที่ไม่ให้ใช้เงินแผ่นดิน กระบวนการสร้างกลไกปฎิรูปประเทศ แก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ 20 เป็นการหาแนวทางแก้ปัญหาประเทศที่เกิดจากความเห็นที่ขัดแย้งกันของฝ่ายการเมือง ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างจากฉบับอื่น เนื่องจาก มีการระบุเรื่องสิทธิอย่างชัดเจน และให้การดูแลคุ้มครองบุคคลทุกกลุ่มให้ชัดเจนมากขึ้น โดยร่างแรกเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2559 หลังจากนั้นรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายและการจัดทำโพล สอบถามความคิดเห็น ใช้เวลาเกือบ 6เดือน มีการปรับแก้ให้ตรงตามข้อเสนอ เช่น การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ข้อเสนอที่ว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการเลือกตั้งทางตรง นายกฯจะเป็นส.ส.หรือไม่ไม่ติดใจ ขอเป็นคนดี ส่วนประเด็นการศึกษาที่ระบุให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี นายอุดม ชี้แจงว่า ไม่ได้ปรับลดระยะเวลาในการดูแลเรื่องการศึกษาบุคคลตลอดชีวิต มีการเขียนไว้เพียงให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา 12 ปี ซึ่งจะทำให้รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องปฏิบัติตาม ด้วยการออกกฎระเบียบเพิ่มเติม เพื่อดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน