การมีส่วนร่วมของประชาชนเชิงรุกในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระยะที่2 นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจราจร เช่นการตัดถนนเพื่อเพิ่มช่องทางในการเดินทาง รวมถึง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร โดยการพัฒนาโครงข่ายการจราจรและขนส่ง จำเป็นที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างระบบขนส่งทางถนนและระบบขนส่งอื่นๆ ซึ่งระบบรถไฟฟ้าจะเป็นโครงข่ายที่พัฒนาบนพื้นที่ที่มีการเดินทางสูงและบนถนนสายหลัก แล้วนำระบบอื่นมาเสริม ซึ่งการตัดถนนใหม่และการขยายถนนถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้สำนักการโยธา (สนย.) เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนนให้มีความคล่องตัว และยกระดับถนนสายรอง ด้วยการขยายช่องจราจร คัดถนนเชื่อมตรอกซอยที่เป็นพื้นที่ปิดล้อม เพื่อรองรับการจราจรจากถนนสายหลักที่มีการเดินทางหนาแน่น รวมถึงสร้างจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ที่สะดวกสบาย และรวดเร็ว
ทำให้กทม.จำเป็นต้องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สินในเขตทางเวนคืนที่ดิน แม้ที่ผ่านมาได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเชิงรุกในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระยะที่ 1 ไปแล้ว 10 โครงการย่อย และปัจจุบันได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเชิงรุกในการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินระยะที่ 2 จำนวน 15 โครงการย่อย อาทิ การสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเพชรเกษม 16 ถึงซอยจรัลสนิทวงศ์ 1 ,การสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนสุวินทวงศ์กับถนนเลียบวารี , การก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนศรีนครินทร์กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3119 , การสร้างทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองแสนแสบ (สะพานยกระดับถนนสุวินทวงศ์) การสร้างและปรับปรุงถนนพระราม2 ซอย 82 เป็นต้น โดยโครงการทั้ง 15 โครงการไม่ใช่โครงการใหญ่ และคาดว่าจะดำเนินการได้ประมาณ 10 โครงการในปีนี้โดยพิจารณาจากความพร้อมของโครงการเป็นหลักซึ่งอยู่ระหว่างประชุมคณะทำงานเพื่อกำหนดแผนงาน และคาดว่าจะมีที่ดินถูกเวนคืนประมาณ 15,590 ตารางกิโลเมตร ใช้งบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ประมาณ 4,760 ล้านบาท
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้พยายามหาแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย โดยยึดตามหลักพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ที่การกำหนดราคาค่าทดแทนจะคำนึงถึงราคาซื้อขายปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ ,ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ , ราคาประเมินเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน , สภาพที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ , วัตถุประสงค์ของการเวนคืน , การได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการถูกเวนคืน , ค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากที่อยู่อาศัยที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 21 วรรค 5 แห่ง พ.ร.บ.การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 หากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ไม่พอใจในราคาค่าทดแทนสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง และหากไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับผลวินิจฉัย หรือนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด 60 วันหลังจากยื่นอุทธรณ์
สำหรับ การพัฒนาโครงข่ายการจราจร เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจราจร ขณะที่การขยายคลองจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต