*รองนายกฯย้ำ33หน่วยงานเดินหน้าแผนประชารัฐร่วมใจสร้างชุมชนมั่นคงปลอดยาเสพติด*

02 พฤษภาคม 2559, 19:29น.


การเดินหน้าแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณา “แผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 - 2560” โดยมีพลเอกนิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะฝ่ายเลขาฯ และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 33 หน่วยงาน เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม 100 คน สาระสำคัญหลักของการประชุมในครั้งนี้ คือ การพิจารณา “แผนประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 - 2560” ที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุมวันี้เป็นการประชุมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบให้ รองนายกรัฐมนตรีประวิตร ร่วมกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยให้มีการสร้างการรับรู้และดำเนินกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยง ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปรามยาเสพติด และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยมีเป้าหมายสลายโครงสร้างปัญหาด้วยการลดและขจัดอิทธิพลของกลุ่มการค้ายาเสพติด รวมทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความมั่นใจและเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินมาตรการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา สามารถดำเนินการแก้ไขไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างประสานสอดคล้อง ผ่านกลไก “ประชารัฐ” โดยมีกำหนดเป้าหมายปฏิบัติทั่วประเทศ จำนวน 81,905 แห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายแดน พื้นที่ตอนใน และชุมชนเมือง สำหรับมาตรการการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น เป็นมาตรการหนึ่งในแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัย ยาเสพติด พ.ศ. 2559 - 2560 โดยแผนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินมาตรการในการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอยู่แล้ว แต่ตามแผนฯ กลไก “ประชารัฐ” ได้เพิ่มมาตรการการเอาผิดและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย โดยกรณีที่มีการพบเห็นสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จากข้อร้องเรียนทั่วไป จากข้อมูลการข่าวและการสืบสวน และจากข้อมูลของประชาชนในพื้นที่ ด้านนายณรงค์ กล่าวว่าในส่วนของการพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบทั้ง 2 เรื่อง คือ 1) แผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 - 2560 และ 2) เห็นชอบมาตรการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินการตามแผนดังกล่าวให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายส่วนราชการ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นไว้ว่า การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ผ่านกลไกประชารัฐบนหลักการทำงานเชิงรุก พลเอกประวิตร ย้ำหลักการทำงานเชิงรุก ไม่ใช่รุกไปฆ่าเขา แต่ให้ใช้งานข่าวเป็นหลัก โดยขอให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติวางโครงข่ายแผนด้านการปราบปราม และขอให้ผู้ปฏิบัติทุกระดับในทุกส่วนราชการ เข้าใจปัญหาที่แท้จริงและลงพื้นที่เป็นระยะ รวมทั้งต้องมีการติดตามประเมินผล เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง และนำผลปัญหาอุปสรรคมาเสนอที่ประชุมนี้ เป็นระยะ สำหรับเรื่องมาตรการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือปล่อยปละละเลย ประกอบด้วย 1. ในกรณี พบพฤติการณ์เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ได้แก่ มีพฤติการณ์การค้ายาเสพติด คบค้าสมาคมกับผู้ค้า ยักยอกยาเสพติด คุ้มครองเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ค้ายาเสพติด มาตรการที่ใช้คือ ผอ.ศอ.ปส. เสนอ หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โยกย้าย 2. ในกรณีที่ปล่อยปละละเลย แบ่งเป็น ด้านการปราบปรามยาเสพติด คือ ปล่อยให้มีการค้ายาเสพติดในพื้นที่ จนหน่วยนอกเข้าไปจับกุม ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยไม่ดำเนินการใดๆ ด้านป้องกันยาเสพติด คือ การปล่อยปละละเลยให้มีการเสพการค้าในสถานศึกษา หรือสถานประกอบการ หรือการปล่อยให้เยาวชนนอกสถานศึกษาเสพยา ด้านการบำบัดรักษา คือ การไม่นำผู้เสพเข้าบำบัด ไม่คัดกรองและส่งต่อเข้าบำบัด ไม่ติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด กลไกการดำเนินงาน คือ กรณีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ ศอ.ปส. ตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้น ก่อนเสนอ ผอ.ศอ.ปส. เพื่อพิจารณาเสนอ หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 กรณีปล่อยปละละเลย ด้านปราบปรามยาเสพติด ให้ ผอ.ศอ.ปส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสั่งการให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการและรายงานภายใน 30 วัน ก่อนเสนอคณะอนุกรรมการตรวจสอบเสนอ ผอ.ศอ.ปส. เพื่อพิจารณาเสนอ หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ด้านป้องกันยาเสพติดและด้านการบำบัดรักษา ให้ ผอ.ศอ.ปส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย สั่งการให้หน่วยงาน ต้นสังกัดดำเนินการและรายงาน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ก่อนเสนอคณะอนุกรรมการ อนุกรรมการตรวจสอบเสนอ ผอ.ศอ.ปส. เพื่อพิจารณาเสนอ หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและปล่อยปละละเลยจะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป



..

ข่าวทั้งหมด

X