*รองอธิบดีกรมชลฯพอใจการจัดสรรน้ำในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทราต่อยอดช่วยพื้นที่อื่น*

09 มีนาคม 2559, 18:27น.


การลงพื้นที่ตลอดทั้งวันของกรมชลประทาน เพื่อติดตามการแก้ปัญหาการจัดการน้ำโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้ใช้น้ำคลองซอย 1 ขวา ฝายท่าลาด ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ฝ่ายท่าลาด มีน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำ 2 อ่างได้แก่อ่างเก็บน้ำคลองระบม ความจุ 55.50 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ความจุ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยฝายท่าลาด ทำหน้าที่ทดน้ำในคลองท่าลาดเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ มีความยาวประมาน 44 กิโลเมตร ส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่ชลประทาน 160,125 ไร่ ซึ่งระบบชลประทานท่าลาดมีระบบกระจายน้ำคือคลองส่งน้ำซอยจำนวน 10 สาย และคลองแยกซอยกระจายอยู่ในแต่ละคลองซอยต่างๆ จำนวน 8 สาย  



ว่าที่ร้อยตรี ไพเจน มากสุวรรณ์  รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการเปิดเวทีพูดคุยจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทำให้เกษตรกรผู้รับน้ำในพื้นมีความเข้าใจและสามัคคีกันยิ่งขึ้น ถือว่าได้ผลที่ดีมาก เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาเรื้อรังที่มีมามากกว่า 10 ปีจนทำให้บริหารจัดการน้ำทั่วถึงตลอดแนวคลอง ในพื้นที่เพาะปลูก ยังสร้างความสามัคคีภายในกลุ่มได้มาหขึ้น  รวมถึงเกิดความร่วมมือร่วมใจในการประหยัดน้ำ ที่ทำให้ประหยัดน้ำได้ถึง ร้อยละ 20 หรือประหยัดน้ำได้ถึง 6.8 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำในพื้นที่ทั้งหมด 34 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นว่าโครงการนี้ สามารถการต่อยอดไปช่วยเหลือในพื้นที่ชลประทานในพื้นที่อื่นได้ รวมถึงสามารถต่อยอดไปในพื้นที่ผู้รับน้ำจากฝายท่าลาดทั้งหมด 10 สายได้





ทั้งนี้ในส่วนของคลองส่งน้ำสายซอย 1 ขวา เป็นซอยที่มีปัญหามากที่สุด โดยมีปัญหาแย่งน้ำใช้ระหว่างเกษตรกรจนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง กรมชลประทานจึงได้เชิญตัวแทนจากจากแต่ละคลองซอยต่างๆ มาร่วมกำหนดช่วงเวลาในการรับน้ำและขอมติเห็นชอบร่วมกัน เพื่อการแบ่งน้ำอย่างเท่าเทียมและไม่เกิดข้อขัดแย้งพร้อมกำหนดหน้าที่ของแต่ละคน หลังจากนั้นก็ลงพื้นที่สำรวจหาสาเหตุปัญหาและวิธีแก้โดยละเอียด จึงเชื่อว่ามีหลายๆ สาเหตุเช่นเรื่องคลองเหิน หรือท้องคลองช่วงปลายยกระดับสูง ทำให้น้ำไม่ไหลไปปลายคลอง รวมถึงมีท่อผี กว่า 61 ท่อ และระบบจัดการน้ำที่ผ่านมาที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งในส่วนเรื่องคลองเหิน กรมชลประทาน ได้ทำการปิดน้ำเข้านาทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ ปรากฎว่าน้ำสามารถส่งไปถึงปลายซอยได้ภายใน 4 ชั่วโมง แต่เมื่อทำการเปิดท่อรับน้ำเข้านาต่างๆ น้ำที่อยู่เต็มคลองตลอดสายได้ไหลออกจนแห้งคลองไม่ถึง 30 นาที ดังนั้นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้น้ำไปไม่ถึงปลายซอย ก็คือปัญหาท่อส่งน้ำเข้านานอกบัญชี หรือท่อผี





จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้มีการนัดประชุมเจ้าของท่อนอกบัญชีทั้ง 61 ราย จนได้ข้อสรุปในการแบ่งน้ำกันอย่างทั่วถึงโดยแบ่งน้ำกันใช้แบ่งโซน เป็นย่อยๆ เพื่อควบคุมน้ำในระบบให้ได้ พร้อมแบ่งการใช้น้ำเป็นรอบเวร ต้นซอย กลางซอย ปลายซอย ซึ่งวิธีดังกล่าววนอกจากจะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอแล้วยังช่วยประหยัดน้ำไปด้วย นอกจากนี้เกษตรกรก็มีการตั้งกลุ่มแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำกันตลอดเวลาด้วย และขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งจากการแย่งน้ำใช้แล้ว



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี



 

ข่าวทั้งหมด

X