นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ จะนำข้อเสนอของไทยไปพูดคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ในคืนวันที่ 17 ก.ค.นี้ เพื่อเจรจาเรื่องอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ส่วนทีมไทยแลนด์ตั้งเป้าปิดดีลภาษีสหรัฐจาก 36% ลงมาที่ 18% หรือไม่นั้น นายเผ่าภูมิระบุว่ายังไม่อยากให้พูดถึงเป้าหมายของการเจรจาภาษีกับสหรัฐในขณะนี้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ โดยย้ำว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างดีที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
ทั้งนี้ การเจรจาด้านภาษีกับสหรัฐต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะ 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.ผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย 2.ผลกระทบต่อผู้ผลิตและประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่อาจได้รับผลกระทบหากมีการแลกเปลี่ยนเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม 'สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาสมดุลผลประโยชน์ ไม่ใช่แค่การเปิดตลาด แต่ต้องคำนึงถึงประชาชนและเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย'
ประเทศไทยสามารถยื่นข้อเสนอเจรจาภาษีกับสหรัฐ ในลักษณะเดียวกับเวียดนามได้ เช่น การเปิดตลาดอย่างเต็มที่ หรือการลดภาษีนำเข้าทั้งหมดเหลือ 0% (Total Access Tariff) ซึ่งจะช่วยให้ไทยได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ไทยทำแบบเวียดนามได้ไหม ก็ทำได้ แต่ถามว่าคุ้มไหม ก็ต้องมาชั่งน้ำหนัก ซึ่งตอนนี้ทีมเจรจาก็ต้องพิจารณาความสมดุลเหล่านี้ ภาคส่งออกอาจมีผลต่อจีดีพีมากกว่า แต่รัฐบาลก็ต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้ผลิตในประเทศที่มีจำนวนไม่น้อย
ในส่วนของข้อเสนอให้สหรัฐลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายหมื่นรายการนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยรัฐบาลจำเป็นต้องสงวนบางรายการไว้เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศและกลุ่มสินค้ายุทธศาสตร์ของไทย โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่เปิดตลาด 100% เหมือนเวียดนามหรืออินโดนีเซีย เพราะหากเปิดมากเกินไปก็อาจทำให้สินค้าเข้ามาแข่งขันจนกระทบผู้ผลิตภายในประเทศ
เวียดนามได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 20% และ 40% ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศหรือภูมิภาค (Regional Value Content : RVC) โดยสินค้าที่มี RVC สูงจะเสียภาษีเพียง 20% ขณะที่สินค้าที่มี RVC ต่ำจะเสียภาษีถึง 40% เวลาพูดถึงเวียดนาม คนมักพูดถึงแค่ภาษี 20% แต่จริง ๆ แล้วตอนนี้เวียดนามต้องเสียภาษี 40% มากกว่า เพราะระบบเศรษฐกิจของเวียดนามพึ่งพาการนำเข้าและเพิ่มมูลค่าก่อนส่งออก ไม่ได้ผลิตในประเทศมากเหมือนไทย ถ้าตั้งเกณฑ์เท่ากัน ไทยจะได้เปรียบกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเจรจาคืนนี้