ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการจัดงานสรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2558 และแถลงแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2559 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สานพลังประชารัฐ ส่งเสริม SMEs Start-up & Social Enterprises” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สานพลังประชารัฐ ขับเคลื่อน SMEs ไทย” ณ ศูนย์ประชุม C ASEAN อาคารไซเบอร์เวิลด์ ถนนรัชดาภิเษก
ช่วงบ่าย นายสมคิด จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
เช้าวันนี้ นายโน ควังอิล (H.E. Mr. Noh Kwang-il) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
ในวันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงบประมาณ, กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้แทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำประชามติ ด้านงานธุรการ และพิจารณางบประมาณในการจัดพิมพ์เอกสารการทำประชามติและบัตรลงคะแนน สำหรับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการลงประชามติกว่า 3,000 ล้านบาท มีการเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว
ในวันนี้ยังเป็นกำหนดวันสุดท้ายที่คณะรัฐมนตรีจะส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายวิษณุรวบรวมเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ และมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงนามในรายงานความเห็นที่จะส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ไม่ได้รู้สึกกังวลต่อที่มีการเชิญชวนให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีการแสดงความเห็นว่า การทำความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะวันนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ และไม่ใช่ร่างสุดท้าย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเห็นว่า การแสดงความเห็นเป็นเรื่องที่ดี แสดงถึงความมีส่วนร่วมของประชาชน และเชื่อว่า กรธ.จะรับฟังความเห็น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบรับคำเชิญของนายบารัค โอบามาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ร่วมกับผู้นำอาเซียนร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ (U.S.-ASEAN Leaders Summit) ณ เมือง Rancho Mirage มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์นี้ โดยเป็นการประชุมหลังจากอาเซียนได้รวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียน-สหรัฐเป็นการโดยเฉพาะในสหรัฐด้วย (the First ever standalone U.S.-ASEAN summit)
เย็นวันนี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซียจะเข้าหารือเรื่องความมั่นคงกับหน่วยงานความมั่นคงของไทย และในวันพรุ่งนี้ จะเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึงเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วย
โดยตั้งแต่เมื่อวานนี้จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ มีการฝึกคอบร้าโกลด์16 ซึ่งมีพิธีเปิดที่กองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า คอบร้าโกลด์เป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญาของกว่า 20 ประเทศที่จะทำงานร่วมกันเพื่อดำรงซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของหนึ่งในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยพลัง และมีความสำคัญที่สุดในโลก ทั้งกล่าวด้วยว่า คอบร้าโกลด์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 35 ความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับอเมริกาไม่ได้ชะลอหรือหยุดชะงัก แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐยังมีความผูกพันและข้องเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ ซึ่งจำนวนทหารของสหรัฐในปีนี้เท่ากับเมื่อปีที่แล้ว และเน้นการฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อรองรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น
(จาก 27 ประเทศ แบ่งเป็นประเทศที่เข้าร่วมฝึกหลักจำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย, สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น,อินโดนีเซีย, สาธารณรัฐเกาหลีและมาเลเซีย
ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT จำนวน 9 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย,แคนาดา, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, บังกลาเทศ, เนปาล, มองโกเลีย และฟิลิปปินส์
ประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก หรือ COLT มีจำนวน 10 ประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการรอการตอบรับ ประกอบด้วย ชิลี, เวียดนาม, ลาว, แอฟริกาใต้, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เนเธอร์แลนด์, บรูไน, เมียนมา, ซาอุดีอาระเบีย และกัมพูชา
ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 2 ประเทศ ประกอบด้วยจีนและอินเดีย
สำหรับกำลังพล ไทย 4,296 นาย, สหรัฐ 3,288 นาย, ญี่ปุ่น 327 นาย, สิงคโปร์ 51 นาย, อินโดนีเซีย 32 นาย, สาธารณรัฐเกาหลี 387 นาย, และมาเลเซีย 133 นาย, อินเดีย 10 นาย, จีน 10 นาย รวมทั้งสิ้น 8,775 นาย ทั้งนี้ ปีที่แล้วสหรัฐส่งทหารเข้าร่วมประมาณ 3,600 นาย)
*-*