การเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงต่างๆ ทยอยเสนอความคิดเห็นเกี่ยวร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ยังไม่ครบ ซึ่งยังพอมีเวลา ทั้งนี้สำหรับความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีจะไม่มีการเสนอกลับมาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติ เพราะสามารถส่งให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.ได้เลย เพื่อให้ทันกรอบเวลาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ความเห็นส่วนตัวจะเสนอในการปรับแก้ถ้อยคำทางเทคนิคเพื่อให้การบังคับใช้สะดวกขึ้น ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อจำกัด ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ทำงานได้ยากนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยและมีการตั้งคำถาม กรธ.ว่าตั้งใจหรือไม่ หากตั้งใจก็สามารถทำได้ เพราะปรามไว้ก่อนก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากไม่ตั้งใจแล้วเขียนกำกับไว้ จนไม่สามารถทำงานได้ ก็จำเป็นจะต้องปรับแก้อีกครั้ง
ส่วนการกำหนดโทษของผู้รณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติพ.ศ. 2552 กำหนดไว้ 3 แนวทางคือการออกพ.ร.บ. พ.ร.ก.และการใช้มาตรา44 แต่เนื่องจากพ.ร.บ.ประชามติปี 2552 นั้นใช้กับการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งมีผลเพียงผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น แต่การทำร่างประชามติรัฐธรรมนูญ มีผู้ได้หรือเสียประโยชน์ การจะปรับแก้พ.ร.บ ฉบับนี้ ถือเป็นเรื่องที่ยาก จึงจำเป็นต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่
พร้อมกันนี้ยังกล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เตรียมหารือกับคณะรัฐมนตรีเพื่อหามาตรการกรณีที่มีการบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า การเผยแพร่ข้อความที่ไม่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องร่างรธน. ไม่ว่าจะเป็นข่าวบันเทิงหรือเรื่องทั่วไป ก็จะมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว สามารถใช้กลไกปกติจัดการได้ ขณะนี้รอนายมีชัยเสนอเข้ามาว่าจะดำเนินการอย่างไร
ส่วนกรณีที่มีผู้มองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.เตรียมส่งนักศึกษาวิชาทหารหรือรด.ไปรณรงค์ให้รับร่างรธน.หน้าคูหานั้น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ชี้แจงแล้วว่า เป็นความเข้าที่คลาดเคลื่อน แต่หากอยากทราบรายละเอียดต้องไปถามผบ.ทบ. อีกครั้ง
...
ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี