เมืองไทยฯ(1):เกษตรของบกลางใช้ในโครงการภัยแล้ง/รองนายกฯเตรียมเยือนรัสเซีย/ปธ.กรธ.เตือนคนเผยแพร่ข้อมูลเท็จ*

09 กุมภาพันธ์ 2559, 07:26น.


ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอเรื่องเพื่อของบกลางมาใช้ในโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ปี 2558/2559 จำนวน 3,600 ล้านบาท ใน 6,481 โครงการ เพื่อให้เริ่มโครงการก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติงบกลางไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ในโครงการระยะแรก 1,800 ล้านบาท สำหรับ 3,135 โครงการ



ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรรายงานว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเกษตรเสียหายประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปี 2558/2559 รวม 12,000 ล้านบาท และจากอุทกภัยในบางพื้นที่อีก 1,000 ล้านบาท โดยกรมชลประทานจะขอความร่วมมือในการงดปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่มีการปลูกไปแล้ว 2,800,000 ล้านไร่



ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอรายชื่อบุคคลที่มี คุณสมบัติได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดี 2 ตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. ได้แก่ นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี



พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนรัสเซีย ตามคำเชิญเพื่อกระชับความร่วมมือทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนรัสเซียช่วงเดือนมีนาคมนี้ โดยประเด็นที่ถูกจับตามองคือการซื้อรถถัง ซึ่ง พล.ต.คงชีพ ยอมรับว่ากองทัพบกมีความต้องการซื้อจริง และมีหลายประเทศที่เสนอขาย รวมถึงรัสเซีย แต่ขณะนี้กองทัพยังไม่ได้ตัดสินใจ



พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่าการจัดซื้อรถถัง ยังอยู่ระหว่างการศึกษาของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ หรือ มย.  ซึ่งยืนยันว่าการพิจารณามีความโปร่งใส ประหยัดคุ้มค่า และตระหนักว่างบประมาณที่ได้มาจากภาษีของประชาชน และเมื่อกระบวนการต่างๆ ได้ข้อสรุปหรือข้อยุติแล้วจะนำเสนอให้สังคมรับทราบต่อไป



ส่วนเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ได้อ่านแล้ว และใน ภาพรวมสามารถยอมรับได้ แต่ยังมีเนื้อหาบางอย่างต้องเพิ่มเติม โดยในส่วนของกระทรวงกลาโหม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำงานและนโยบายหลักด้านทหาร ซึ่งจะส่ง ครม.ในวันนี้ ส่วนที่นายทักษิณ ชินวัตร วิจารณ์รัฐธรรมนูญก็เห็นว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ทุกคนคิดได้หมดหากมีอะไรเสนอก็ส่งมาได้ตามช่องทางที่มี ส่วนเรื่องการให้ทหารลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เราจะให้ทหารชักชวนประชาชนให้ออกมามากที่สุด เราไม่ได้บอกให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการสร้างความเข้าใจมีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ นำโดยกระทรวงมหาดไทย



ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นประธานการประชุม เพื่ออภิปรายแสดงข้อคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ซึ่งนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ด้านการเมือง อภิปรายเห็นด้วยกับการลดเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นและกระชับ เน้นการปราบปราบการทุจริตที่จำกัดสิทธิ์ผู้ทุจริตไม่ให้เข้ามาสู่การเมือง เชื่อว่าประชาชนจะพึงพอใจ แต่ยังมีบางประเด็นที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจะเห็นเป็นรูปธรรม เช่น การกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว จะทำให้พรรคที่ไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตเสียเปรียบ ส่วนการให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนการเลือกตั้งก็อาจเป็นการปิดกั้นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ นายเสรีกล่าวด้วยว่า ถ้าเราวางโครงสร้างในเนื้อหารัฐธรรมนูญ ละเอียดมากเกินไป จนไม่สามารถแก้ไขได้ จะทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญอีก



ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เปิดเผยว่า จากการรับฟังการอภิปรายของสปท. พบว่าบางอันก็ดี แต่บางอันยังเข้าใจผิด ที่วิจารณ์ว่าเป็นรัฐบาลซ้อนรัฐบาลนั้นเป็นการเข้าใจผิด เพราะเมื่อรัฐบาลใหม่มา องค์กรต่างๆ ก็ต้องไปหมด ส่วนที่วิจารณ์ว่าร่างนี้แก้ยากเกินไป ยืนยันว่าเราก็รับฟัง ขณะเดียวกันบางคนก็บอกว่าหลักการนี้ดีแล้ว ซึ่งตอนนี้กรธ.ปวดหัวมากว่าจะเอายังไง ต่างฝ่ายก็มีเหตุผลที่ดีทั้งคู่



นอกจากนี้นายมีชัย ยังเตือนการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กชื่อหยุดดัดจริตประเทศไทย ที่จัดทำอินโฟกราฟิกร่างรัฐธรรมนูญโดยตั้งชื่อว่า "ฉีกหน้ารัฐธรรมนูญโจร สละเวลาอ่านเพียง 10 นาทีก่อนจะสายเกินไป" โดยระบุว่า เป็นสิ่งที่รับไม่ได้เพราะให้ข้อมูลเท็จ จำเป็นต้องหารือกับรัฐบาลจัดการกับปัญหานี้ แต่ไม่ใช่การใช้กฎหมายมาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และหากนักการเมืองยังไม่เลิกโกหก ก็อาจเพิ่มมาตรการบางอย่างไปในร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพราะการโกหกเป็นของไม่ดี และมันไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพ ส่วนความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ให้กรธ.หยุดโต้รายวันนั้น ตอนนี้เราก็หยุดแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไร



ส่วนเรื่องการศาสนาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ มหาเถรสมาคม (มส.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ให้ดำเนินการ ให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีมติของมส.รับรองแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสปช. และนพ.มโน เลาหวณิช เปิดเผยว่า จากพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช มีเนื้อหาซึ่งเป็นที่เข้าใจว่า พระธัมมชโยเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไปแล้ว และมส.ก็มีมติสนองพระดำริ ทั้งส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติมส. ดังนั้นหากสำนักพระพุทธศาสนาไม่ดำเนินการ อาจจะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่



ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยารายงานลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณประเทศไทยและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังทำให้มีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป เว้นแต่ภาคเหนือที่มีอุณหภูมิลดลงได้อีก 2-4 องศา ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นนี้ไว้ด้วย ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน



*-*

ข่าวทั้งหมด

X