มาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัยสำหรับอาคาร ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. เปิดเผยว่า วสท. ได้ตั้งคณะทำงานจากหลายภาคส่วน เพื่อจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัยสำหรับอาคาร 9 ประเภท ในประเทศไทย ตามลักษณะการใช้งานอาคาร ได้แก่ อาคารโรงแรม อาคารโรงพยาบาล อาคารห้างสรรพสินค้า อาคารโรงงาน อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย อาคารตลาดเก่า ชุมชนเก่า หรือตลาดอนุรักษ์ อาคารโรงเรียน สถานศึกษา และอาคารสถานบริการ
ด้านนางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท. และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยอาคารและอัคคีภัย เปิดเผยว่า อาคารสูงที่มีความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย จะต้องมีระบบการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและสามารถแจ้งเตือนภัยให้ทราบอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร โดยเฉพาะอาคารประเภทที่อยู่อาศัย จะต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถทำงานอย่างรวดเร็ว ส่งเสียงเตือนภัยปลุกคนได้ขณะหลับ บันไดหนีไฟที่ปลอดภัยอย่างน้อยสองบันได มีป้ายบอกทางหนีไฟที่สามารถเห็นได้ชัดเจน มีแสงสว่างฉุกเฉิน ที่ส่องสว่างในเส้นทางหนีไฟไปตลอดทางกระทั่งออกนอกอาคาร โดยสมรรถนะต้องไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ต้องมีแผนผังทางหนีไฟและตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยติดแสดงให้เห็นชัดเจนในทุดชั้นของอาคาร มีอุปกรณ์ดับเพลิงขั้นต้นหรือถังดับเพลิงติดตั้งครอบคลุมทุกพื้นที่ของอาคาร การกั้นแยกแบ่งส่วนอาคาร การป้องกันไฟลามในแนวดิ่ง ช่องท่อ ช่องบันได ช่องเปิดต่างๆ ต้องกิดพื้นที่ด้วยวัสดุทนไฟ ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น สปริงเกอร์ ต้องติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ของอาคาร บันไดหนีไฟต้องมีระบบป้องกันควันที่ได้มาตรฐาน ต้องมีลิฟต์ดับเพลิง มีระบบไฟฟ้าสำรอง เพื่อจ่ายไฟให้กับระบบความปลอดภัยของอาคารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง อาคารจะต้องมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ระบบความปลอดภัยอัคคีภัย ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา อาคารจะต้องมีแผนฉุกเฉินสำหรับอัคคีภัย และการควบคุมวัสดุในอาคาร จะต้องไม่ติดไฟหรือติดไฟยาก
ทั้งนี้ ส่วนสำคัญก่อนก่อสร้างอาคาร จะต้องคำนึงถึงทำเลที่ตั้งว่า ซอยทางเข้ารถดับเพลิงสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกหรือไม่ นอกจากนี้ผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร จะต้องมีความรู้เบื้องต้นในการระงับเหตุ เพราะหากเกิดเพลิงไหม้และปล่อยทิ้งไว้นาน จะเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินได้
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข