หลังจากที่เมื่อวานนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. ได้เข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคารพาณิชย์สูง 10 ชั้นภายในซ.นราธิวาส 18 หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. แถลงสรุปผลการวิเคราะห์ว่า สาเหตุน่าจะมาจากการจุดธูปเทียนไหว้เจ้า หรือไฟฟ้าลัดวงจร การตรวจสอบร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภาพรวมพบว่าโครงสร้างอาคารยังมีความแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงว่าจะถล่มลงมา ตึกที่ถูกไฟไหม้ก่อสร้างเมื่อปี 2535 มีบันไดลิงพื้นภายในตกแต่งด้วยไม้ปาเก้ ส่วนผนังและเพดานตกแต่งด้วยไม้สัก ต้นเพลิงอยู่บริเวณโถงชั้น 3 แล้วลุกลามไปที่ชั้น 4-9 อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางบันได เพราะเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ และไม้เป็นวัสดุที่ติดไฟได้อย่างรวดเร็ว คณะผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินความเสียหายของโครงสร้างอาคารทางวิศวกรรมตั้งแต่ชั้น 3 ขึ้นไป มีความเสียหายที่ต้องได้รับการตรวจสอบและแก้ไข
ด้าน รศ. สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า อาคารที่ถูกไฟไหม้เป็นอาคารเก่า ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นช่วงที่กฎหมายควบคุมอาคารยังไม่รัดกุมในเรื่องของการติดตั้งระบบป้องกันไฟ จึงไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เมื่อเข้าไปตรวจสอบ ไม่พบว่ามีระบบดับเพลิง สปริงเกอร์ บันไดหนีไฟ และถังดับเพลิง หากซ่อมแซมก็สามารถเข้าพักอาศัยได้ตามปกติ ฝากถึงเจ้าของอาคารสูงที่มีการก่อสร้างนานแล้ว และไม่มีการติดตั้งระบบควบคุมเพลิงไหม้ ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิต และทรัพย์สิน สำหรับเจ้าของอาคารที่สนใจติดตั้งระบบควบคุมเพลิงไหม้ วสท. จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา
สำหรับการสำรวจอาคารดังกล่าว ทางทีมงานสจล. ได้เตรียมเครื่องมือทางวิศวกรรมเพื่อทดสอบอาคาร หากทางเจ้าของมีความประสงค์ให้ทางวสท. เข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด รศ.ดร. นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา วสท. เปิดเผยว่า สจล. เตรียมอุปกรณ์ในการตรวจสอบ ได้แก่ กล้องสำรวจ ที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบระดับและตรวจสอบแนวของโครงสร้าง เพื่อให้ทราบว่าอาคารเกิดการแอ่นตัวหรือเสาเข็มบางต้นเกิดการเอียงมากน้อยเพียงใด, เครื่องมือสำหรับเจาะคอนกรีต (coring) เพื่อใช้เก็บตัวอย่างแท่งคอนกรีต เพื่อนำไปทำสอบความแข็งแรงของคอนกรีต และค้อนยิงคอนกรีต (Schmidt Hammer) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับทดสอบความแข็งแรงของคอนกรีตแบบไม่ทำลาย โดยการกดยิงไปที่คอนกรีดแล้ววัดผลสะท้อนกลับ เพื่อนำค่าที่ได้ไปวิเคราะห์ เทียบกับตารางมาตรฐาน ดัชนีตั้งแต่ 10-100 ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซับพลังงานของผิวคอนกรีต ผิวคอนกรีตที่มีความแข็งมากกว่าจะมีค่าดัชนีสะท้อนกลับสูง
สำหรับระยะเวลาในการตรวจสอบจะใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล 2-3 วัน แต่บางกรณีที่ต้องตัดชิ้นส่วนออกมาสำรวจ ต้องใช้ระยะเวลาทดสอบอย่างน้อย 7 วัน ถึงจะทราบผล โดยขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการขนย้ายสิ่งปรักหักพังที่เป็นน้ำหนักส่วนเกินออกจากอาคาร เพื่อลดกำลังของโครงสร้าง
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข