สั่งดำเนินคดีเด็ดขาด กรมอุทยาน ฯ ร่วมกับ บก.ปทส. จับขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ยึดสัตว์ป่าคุ้มครอง-สัตว์ป่าควบคุม หลายรายการ นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นางใกล้รุ่ง พูลผล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นายสดุดี พันธุ์ภักดี ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา นายพลวีร์ บูชาเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า นายนาวี ช้างภิรมย์ หัวหน้าชุดเหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการจับกุม ผู้ต้องหาลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.68 เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ตำรวจ กก.5 บก.ปทส. สืบสวนข้อมูลพบการลักลอบขนส่งสัตว์ป่าจากต่างประเทศ ปลายทางไปยังกรุงเทพมหานคร ตรวจพบรถยนต์ต้องสงสัย ในพื้นที่ตำบลทุ่งคา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร จึงเข้าตรวจสอบรถคันดังกล่าว พบผู้ที่อยู่ภายในรถ จำนวน 2 คน และสัตว์ป่ามีชีวิตซึ่งคาดว่าเป็นสัตว์ป่าผิดกฎหมาย คณะเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งให้บุคคลดังกล่าว ขับรถยนต์พร้อมสัตว์ป่าดังกล่าว มาตรวจพิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร
กระทั่งวันนี้ชุดเหยี่ยวดง ร่วมกับตำรวจ กก.5 บก.ปทส. ตรวจสอบชนิดสัตว์ป่าภายในรถยนต์ดังกล่าว พบสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้แก่ ชะนีมือขาว จำนวน 1 ตัว และชะนีดำใหญ่ จำนวน 2 ตัว และสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง ได้แก่ ลิงอุรังอุตัง จำนวน 3 ตัว พร้อมทั้งได้ร่วมกันขยายผลไปยังสถานที่พักสัตว์ป่า ในพื้นที่บริเวณตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พบสัตว์ป่าคุ้มครองเพิ่มเติม ได้แก่ พังพอน จำนวน 1 ตัว และนกปรอดหัวโขน จำนวน 1 ตัว พร้อมผู้ครอบครองสัตว์ป่าดังกล่าว จำนวน 1 คน ก่อนที่จะขยายผลไปยังบริเวณบ้านในพื้นที่ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่พักสัตว์อีกแหล่งหนึ่ง พบสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง ได้แก่ ลิงทามารินหัวสำลี จำนวน 7 ตัว และแพนด้าแดง จำนวน 2 ตัว พร้อมผู้ครอบครอง จำนวน 1 คน คณะเจ้าหน้าที่ จึงได้ตรวจยึดจับกุมดำเนินคดี รวมทั้งสิ้นจำนวน 3 คดี และควบคุมผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น จำนวน 4 คน เป็นผู้ต้องหา รวมสัตว์ป่าที่ตรวจยึด จำนวนทั้งสิ้น 7 ชนิด 17 ตัว
ทั้งนี้ คาดว่าแพนด้าแดงถูกนำมาจากประเทศโคลัมเบีย มูลค่าตัวละประมาณ 2 ล้านบาท นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อส่งต่อไปที่อื่น คาดว่ามาจากอินโดนีเซียและคาดว่าอาจจะสัตว์ป่าเหล่านี้จะถูกนำส่งไปต่างประเทศ สำหรับสัตว์ป่าของกลางจะ ส่งต่อให้กรมอุทยานนำไปดูแล เนื่องจาก มีสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยจะมีการตรวจสุขภาพสัตว์ป่าก่อนส่งไปดูแลต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี ต่อไป
#จับขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ
#สัตว์ป่าควบคุม
#สัตว์ป่าคุ้มครอง
Cr:กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช