ดับแล้ว 3 ฝนตกหนัก-น้ำท่วมสงขลา หาดใหญ่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง

29 พฤศจิกายน 2567, 14:50น.


           การประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม 2567 (ส่วนหน้า) อำเภอหาดใหญ่ นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอ conference โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม



           ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้รายงานสถานการณ์อุทกภัย 3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกผลกระทบในพื้นที่ขณะนี้จังหวัดสงขลาได้รับผลกระทบแล้ว 109 ตำบลประชาชนได้รับ ความเดือดร้อน 50,893 ครัวเรือนโรงเรียน 331 แห่งทั่วจังหวัดปิดทำการเรียนการสอน มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย อำเภอสะเดา 2 ราย อำเภอเทพา 1 ราย โดยได้มอบหมายให้นายอำเภอเข้าเยี่ยมให้กำลังใจ และนำเงินปลอบขวัญช่วยเหลือแล้ว



           โดยความช่วยเหลือจังหวัดสงขลาได้สั่งการให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการให้ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยได้แจกจ่ายอาหารแล้ว จำนวน 24,102 กล่อง น้ำดื่ม 36,428 ขวด ถุงยังชีพ 4,671 ถุง ตั้งโรงครัว 37 แห่ง แจกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ 4,994 ชุดและให้การช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ เรือ 93 ลำ เครื่องสูบน้ำ 65 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง รถ 6 ล้อยกสูง 9 คัน กระสอบทราย 50,125 กระสอบ โดยล่าสุดตั้งแต่เมื่อคืน (28 พ.ย.67) ได้สั่งย้ายเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง จำนวน 4 เครื่องมาสูบส่งที่หาดใหญ่เพื่อเร่งการระบายน้ำด้วย



          สถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่



+++นายเทพดำรง รักษ์วงศ์ ชาวอำเภอสะเดา อายุ 30 ปี ที่เสียชีวิตขณะออกไปช่วยชุมชนบรรจุกระสอบทรายกั้นน้ำ บริเวณชุมชนสะพานม้า ตำบลสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567



+++รายที่สอง นางสาวอัสมะ สาแมป่าอ้อ อายุ 16 ปี ชาวตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จมน้ำเสียชีวิตในบ้านหลังน้ำไหลเข้าท่วม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 และ



+++รายที่สาม นายสมศักดิ์ วิชาพูล อายุ 53 ปี ชาวตำบลฉาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เสียชีวิตจากการจมน้ำ ขณะสำรวจบ้านที่ติดลำคลอง โดยพบศพในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567



          ทั้งนี้ จังหวัดสงขลาได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ส่วนหน้า 3 เเห่ง คือ อำเภอหาดใหญ่ ดูเเลพื้นที่เศรษฐกิจ อำเภอระโนด ดูแลคาบสมุทรสทิงพระ อำเภอเทพา ดูเเลพื้นที่เขตความมั่นคง เพื่อให้การบัญชาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามบริบทของพื้นที่



          นอกจากนี้ ยังมีหน่วยสนับสนุนตามแผนปฏิบัติการของจังหวัด เช่น ทัพเรือภาค 2 ได้ส่งเรือพร้อมกำลังพลเข้าช่วยเหลืออำเภอเทพา มูลนิธิกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่กระจายกำลังไปตามอำเภอต่าง ๆ ส่วนกู้ชีพกู้ภัยจากภาคอื่นที่เข้ามาสมทบ ได้รับมอบหมายภารกิจไปแล้ว เช่น มูลนิธิฝันดี ฝันเด่นได้รับมอบหมายภารกิจในอำเภอจะนะ และกู้ภัยสว่างมูลนิธิ เข้ามาช่วยดูแลในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่



 



#ฝนตกหนักสงขลา

ข่าวทั้งหมด

X