ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมรัฐบาล เห็นชอบเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 และเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกในช่วง 10.00 น.วันนี้ (16 ส.ค.67) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ
*ขั้นตอนก่อนเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี*
-พรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา ไม่น้อยกว่า 5% (25 คน) สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยแจ้งไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสามชื่อ
-การเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (ในกรณีนี้พรรคเพื่อไทยซึ่งมีชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน รวมอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย จะไม่สามารถเสนอชื่อนายเศรษฐาได้อีก เพราะเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5))
*ขั้นตอนการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี*
ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนั้น จะต้องมี สส. รับรองด้วยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของ สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา หรือคิดเป็นจำนวน 50 คน เมื่อเทียบกับจำนวน สส.ในสภาที่เหลืออยู่ ปัจจุบันมีจำนวน 493 คน
-พรรคร่วมรัฐบาล 314 เสียง
-พรรคฝ่ายค้าน 179 เสียง
*ขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี*
สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจากผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำโดยเปิดเผย โดยจะใช้วิธีการเรียกชื่อ สส. แต่ละคน และให้ สส. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 247 เสียงขึ้นไป เมื่อเทียบกับจำนวน สส.ในสภาที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจำนวน 493 คน
หากในขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถสรรหานายกรัฐมนตรีได้ ไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกันใหม่ และเริ่มโหวตอีกรอบจนกว่าจะได้บุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
หลังจากสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต่อไป
**พรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 5% ที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกได้ ประกอบไปด้วย
-พรรคเพื่อไทย มี สส. 141 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นายชัยเกษม นิติสิริ
-พรรคภูมิใจไทย มี สส. 70 คน (ไม่นับรวมผู้ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่) บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล
-พรรคพลังประชารัฐ มี สส. 40 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
-พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันประยุทธ์ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
-พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
**พรรคฝ่ายค้าน
-พรรคประชาชน 143 เสียง
-พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง
-พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง
-พรรคเป็นธรรม พรรคใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคละ 1 เสียง
#เลือกนายกคนที่31
แฟ้มภาพ
Cr.วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา