โลกกำลังเผชิญกับการขาดแคลนแร่ธาตุที่จำเป็นในการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า กังหันลม แผงโซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในปารีส ระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ (17 พ.ค.67) ว่าราคาลิเธียม โคบอลต์ นิกเกิล และกราไฟต์ที่ลดลงอย่างมากในปีที่แล้ว (2566) ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค แต่ไม่สนับสนุนการลงทุนในการขุดแร่สำคัญเหล่านั้น โดยในปี 2566 มีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ซึ่งเป็นอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับในปี 2565
นายฟาติห์ บิรอล กรรมการบริหารของ IEA กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่าความต้องการเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การขยายแหล่งแร่ธาตุสำคัญเติบโตไม่ทันความต้องการใช้ คาดการณ์ว่านักลงทุนจะต้องใช้เงิน 800,000 ล้านดอลลาร์ในโครงการ ที่เริ่มตั้งแต่ในปัจจุบันไปถึงปี 2583 เพื่อเร่งการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อให้สามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ IEA ยังเตือนถึงปัญหาการกระจุกตัวของแหล่งแร่สำคัญที่ยังอยู่ในไม่กี่ประเทศ ที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากปัญหาสภาพอากาศ ข้อพิพาททางการค้า หรือภูมิรัฐศาสตร์
รายงานฉบับล่าสุดนี้นำเสนอการประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับแร่ธาตุที่เปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยพิจารณาจากสี่มิติหลัก ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอุปทาน ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ อุปสรรคในการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของอุปทาน และความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และ ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพบว่า ลิเธียมและทองแดงมีความเสี่ยงในเรื่องปริมาณ ในขณะที่กราไฟท์ โคบอลต์ แรร์เอิร์ธ และนิกเกิล จะมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
...
#IEA
#พลังงานสะอาด