ไอเอ็มเอฟ ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ เหลือโตร้อยละ 2.7 ขาดมาตรการกระตุ้นด้านการคลัง

30 เมษายน 2567, 13:39น.


          กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย สำหรับปี 2567 ในวันนี้ (30 เม.ย.) เนื่องจากยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดีย และมุ่งความสนใจไปที่ความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นมากขึ้นจากจีน



          ขณะนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชีย จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.3 จุดเปอร์เซ็นต์ จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อ 6 เดือนก่อน ขณะที่คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียในปีหน้าไว้ ดังเดิมที่ร้อยละ 4.3



          สำหรับประเทศไทย IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัวร้อยละ 2.7  ซึ่งลดลงร้อยละ 0.5  IMF ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง เนื่องจากแนวโน้มการใช้มาตรการกระตุ้นด้านการคลังลดน้อยลง ส่วนในปี 2568 นั้น IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเหลือร้อยละ 2.90



          นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของ IMF ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปี 2567 สดใสขึ้น โดยขณะนี้เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคดังกล่าวจะชะลอตัวลงน้อยกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง



          IMF ยังระบุด้วยว่า อินเดียนั้นเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งการลงทุนสาธารณะยังคงเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ โดยปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลกด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งเป้าจะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกภายในปี 2570



          IMF เตือนว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจเอเชียคือวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งจะบั่นทอนอุปสงค์และเพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินฝืดยาวนาน ซึ่งเพิ่มโอกาสที่จะกระทบเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ผ่านการค้าทางตรง



          ส่วนจีนจำเป็นต้องออกมาตรการเชิงนโยบายที่ช่วยเหลือกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหา, ส่งเสริมการสานต่อโครงการที่อยู่อาศัยให้แล้วเสร็จ และจัดการความเสี่ยงหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นจีน พร้อมยอมรับว่า มาตรการกระตุ้นที่จีนบังคับใช้ในเดือนต.ค.ปีที่แล้วและเดือนมี.ค.ปีนี้ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบของการปรับลดลงของกิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการที่ซบเซา



 



#เศรษฐกิจโลก

ข่าวทั้งหมด

X