ร้อนๆ แบบนี้ ไอศกรีมไทยก็มาสิจ๊ะ! นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามข้อมูลการค้าและสถานการณ์การส่งออกสินค้าไอศกรีม พบว่า มูลค่าการส่งออกไอศกรีมของไทย เติบโตต่อเนื่องติดต่อกันตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปี (2560 - 2566) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ12.43 โดยล่าสุด ปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกไอศกรีมรวม 148.21 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,099 ล้านบาท) ขยายตัว ร้อยละ7.3
ทั้งนี้ หากพิจารณารายประเทศ พบว่าไทยเป็นผู้ส่งออกไอศกรีม อันดับที่ 11 ของโลก รองจาก (1) เยอรมนี (2) ฝรั่งเศส (3) เบลเยียม (4) เนเธอร์แลนด์ (5) อิตาลี (6) โปแลนด์ (7) สหรัฐอเมริกา (8) สเปน (9) สหราชอาณาจักร และ (10) ฮังการี โดยจะเห็นว่าในบรรดาประเทศผู้ส่งออกไอศกรีม ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของเอเชีย
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ไอศกรีมเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โดยจากรายงานมูลค่าตลาดไอศกรีมของEuromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก พบว่า ปี 2566 ตลาดไอศกรีมโลกมูลค่าค้าปลีกอยู่ที่ 86,719.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ8.8 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยประเทศที่มีตลาดไอศกรีมขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าค้าปลีก 19,994.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) จีน 8,247.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (3) ญี่ปุ่น 5,581.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (4) รัสเซีย 3,576.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และ (5) บราซิล 3,232.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ตลาดไอศกรีมของไทย มีมูลค่าค้าปลีก 396.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศที่ร้อน ความนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไลฟ์สไตล์ที่ต้องเดินทาง (On The Go Lifestyles) เพิ่มขึ้นของคนไทย
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับ 1 ของเอเชีย แสดงให้เห็นว่าไอศกรีม เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกศักยภาพของไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย และสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นไอศกรีมได้อย่างสร้างสรรค์และถูกใจผู้บริโภค
โดยผลไม้ไทยเกือบทุกชนิด สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว ส่วนขนมไทยก็ถูกนำมาประยุกต์เป็นไอศกรีมได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่สมุนไพรไทยก็สามารถเป็นส่วนผสมในไอศกรีมเพื่อชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย ตลอดจนการรังสรรค์รูปแบบและรูปทรงของไอศกรีม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสามารถพัฒนาไอศกรีมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และแสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าใหม่ ๆ มากขึ้น เนื่องจากไอศกรีมไทย ยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกไอศกรีมของไทยในตลาดโลก ข้อมูลล่าสุดปี 2565 ไทยมีมูลค่า การส่งออกไอศกรีม คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ2.6 ของมูลค่าการส่งออกไอศกรีมทั่วโลก ขณะที่สหภาพยุโรป มีส่วนแบ่งร้อยละ 68.4 สหรัฐอเมริกา มีส่วนแบ่งร้อยละ 5.0 และสหราชอาณาจักร มีส่วนแบ่งร้อยละ ร้อยละ 3.0 ของมูลค่าการส่งออกไอศกรีมทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังพบว่าการส่งออกไอศกรีมของไทย เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 148.21 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,099 ล้านบาท) ขยายตัว ร้อยละ7.3 และเดือนมกราคม 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 9.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (343 ล้านบาท) ขยายตัว ร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตลาดส่งออกไอศกรีมที่สำคัญของไทยปี 2566 ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.5 ของมูลค่าการส่งออกไอศกรีม ไทย (2) เกาหลีใต้ ร้อยละ 11.3 (3) เวียดนาม ร้อยละ9.5 (4) สิงคโปร์ ร้อยละ6.5 และ (5) กัมพูชา ร้อยละ6.3 ตามลำดับ
#กระทรวงพาณิชย์
#ไอศกรีม