กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เปิดเผยสถานการณ์เศรษฐกิจของศรีลังกาที่ประสบปัญหาวิกฤตเลวร้ายที่สุดเมื่อ 2 ปีก่อน เริ่มค่อยๆ ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 70 ในปี 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเดือนที่แล้ว (กุมภาพันธ์ 2567) และเศรษฐกิจขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังจากหดตัวเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง
นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบเป็นรายปี ในไตรมาสที่สามของปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อเนื่องในไตรมาสที่สี่อยู่ที่ร้อยละ 4.5
วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2565 ทำให้ชาวศรีลังกาขาดแคลนอาหาร ยา เชื้อเพลิง และพลังงานอย่างรุนแรง มีการประท้วงใหญ่ซึ่งนำไปสู่การถอดถอนนาย โกตาบายา ราชปักษา ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น และประกาศล้มละลายในเดือนเมษายน2565 โดยมีหนี้มากกว่า 83,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ของเจ้าหนี้ต่างประเทศ ทางการศรีลังกาต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF และได้รับแพ็คเกจช่วยเหลือเมื่อปีที่แล้ว ภายใต้โครงการช่วยเหลือระยะเวลา 4 ปี วงเงิน 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีการทบทวนทุกครึ่งปีว่ามีความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จำเป็นหรือไม่ ขณะที่ยังมีการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน
นอกจากนี้ เมื่อวันพุธ (20 มีนาคม 67) ทีมเจ้าหน้าที่ของ IMF ได้บรรลุข้อตกลงกับทางการศรีลังกาเกี่ยวกับการทบทวนการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งที่ 2 และเมื่อข้อตกลงได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารแล้ว ศรีลังกาจะสามารถเข้าถึงเงินกู้จำนวน 337 ล้านดอลลาร์ และจะทำให้ศรีลังกาได้รับเงินกู้ไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
...
#เศรษฐกิจศรีลังกา
#ไอเอ็มเอฟ