หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะประเด็นหลัก ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เช่น
1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต เชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ
2. ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ คือ การดําเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคํานึงถึงความคุ้มค่าและมีความจําเป็น ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจําเป็นต้องดําเนินนโยบาย ที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรมีการจัดลําดับความสําคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง เช่น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า
3. ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย คือ การดําเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนักและใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อํานาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกําหนดนโยบายของพรรคการเมือง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง การนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า จะเป็นช่วงต้นสัปดาห์หน้า ส่วนหนึ่งในการโพสต์เรื่องนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายรายละเอียดว่า
-เรามองว่ากลไกที่จะสร้างเม็ดเงินใหม่ได้ คือ การออก พ.ร.บ.การกู้เงิน แต่เมื่อมีข้อท้วงติงมาจากทาง ป.ป.ช. เราก็ต้องรับฟัง ส่วนการออกพระราชกำหนด ยังไม่ได้หารือกัน แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจไปถึงจุดที่มีความจำเป็น เราอาจจะต้องมาหารือกันอีกที ยืนยันว่า ไม่ลดวงเงิน (ทั้งนี้ ป.ป.ช.เสนอว่า หากรัฐบาลมีความจําเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชน ที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม ไม่สร้างหนี้ในระยะยาว )
รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจึงจะเดินหน้าทำงานคู่ขนานกันไป เราจะมีการนัดหมายการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทดิจทัลวอลเล็ตภายในต้นสัปดาห์หน้าใน 3 ประเด็นหลัก
1) เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น: เรายืนยันว่ายังไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นเพราะเรายังไม่ได้เดินหน้าโครงการนี้อย่างเป็นทางการ เราจะตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อวางแผนกำหนดกฎเกณฑ์กำหนดรูปแบบการใช้งานเพื่อไม่ให้ใช้เงินผิดประเภท
2) เรื่องผลลัพธ์ของนโยบายนี้มีมากน้อยเพียงใด: โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่มีโมเดลไหนที่ใช้ชี้ชัดได้อย่างมั่นใจ แต่สิ่งที่เราอยากทำให้ชัดเจนขึ้นคือความต้องการของภาคประชาชน ความต้องการของเอกชนโดยรวม เราจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อรับฟังความคิดเห็นและเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มานำเสนอให้เป็นที่ประจักษ์
3) เรื่องการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน: เราได้รับฟังเสียงจากภาคเอกชนจำนวนมาก ทุกคนมองเห็นประโยชน์ของโครงการนี้และอยากมีส่วนร่วม เราต้องการสร้าง Transaction House กลางของภาครัฐซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับภาคเอกชนได้ เราจะหารือเพิ่มเติมเพื่อหาหนทางสร้างการเชื่อมต่อให้ครอบคลุมและกว้างขวาง ให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้ใช้ ที่สำคัญที่สุดเป็นการเชื่อมโยงระบบชำระจ่ายเงินของประเทศให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
ไทม์ไลน์ของนโยบาย: มีการขยับออกไป แต่ด้วยสภาพสถานการณ์เศรษฐกิจ รัฐบาลเห็นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะหยุดรอไม่ได้ เราจะเดินหน้าให้เร็วที่สุด
#ดิจิทัลวอลเล็ต
แฟ้มภาพ
CR:ขอบคุณข้อมูล จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์