ธปท.รายงาน 'รู้จักวิกฤตต้มยำกุ้ง' ไทยลอยตัวค่าเงินบาท-กู้เงินIMF

02 กุมภาพันธ์ 2567, 19:02น.


          ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานถอดบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดจากอะไร โดยอ้างอิง  เอกสารสำนักวิชาการ สำนักงานสภาผู้แทนราษฎร ปี2560 



รู้จักวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง



          วิกฤตการณ์การเงิน 2540 หรือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) วิกฤตครั้งนั้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศไทย และส่งผลไปถึงภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชียจนเป็นวิกฤตทางการเงินในที่สุด 



           วิกฤตเริ่มปะทุขึ้นเมื่อค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเก็งกำไรอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของภาคเศรษฐกิจการเงินไทยในขณะนั้น กล่าวคือ ก่อนที่จะเกิดวิกฤต เงินทุนเอกชนไหลเข้ามาอย่างมากจากการลงทุนโดยการกู้ยืมของเอกชนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่เงินทุนและการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 



          ในขณะที่ประเทศไทยดำเนินอัตราแลกเปลี่ยนแบบค่อนข้างคงที่ ซึ่งเป็นนโยบายการเงินในขณะนั้น แม้นโยบายจะสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน ทว่ากลับทำให้ผู้กู้และผู้ให้กู้ยืมต่างก็ประเมินความเสี่ยงจากการเปิดรับเงินตราต่างประเทศที่ต่ำเกินไป ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างระยะเวลาของตราสารทางการเงินในภาคธนาคาร และความไม่สมดุลกันระหว่างปริมาณเงินต่างประเทศในงบการเงินของภาคเอกชน การกู้ยืมเงินจำนวนมากจึงกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ



          ที่สำคัญคือ ความไม่สมดุลของตราสารทางการเงินในภาคธนาคารเป็น ‘การกู้สั้น ลงทุนยาว’ กล่าวคือ เป็นการยืมเงินตราต่างประเทศประเภทระยะสั้น แต่มาให้สินเชื่อประเภทระยะยาวกับโครงการก่อสร้างภายในประเทศ ความไม่สมดุลเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงกับระบบเศรษฐกิจจากการไหลออกของเงินทุนมากขึ้น 



อ่านฉบับเต็ม:https://www.bot.or.th/th/our-roles/special-measures/Tom-Yum-Kung-lesson.html

ข่าวทั้งหมด

X