นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ หารือทวิภาคีกับนาย Enrique Mora รองเลขาธิการกิจการด้านการเมือง/ผู้อำนวยการด้านการเมือง กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก ครั้งที่ 3 กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้ขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายสหภาพยุโรปในเรื่อง FTA ไทย-สหภาพยุโรป และการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย ซึ่งฝ่ายสหภาพยุโรป รับจะพิจารณาด้วยดี
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา และแนวทางในการดำเนินการร่วมกันระหว่างไทยและสหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมให้เมียนมามีความสงบสุข มีเสถียรภาพ และมีเอกภาพ โดยไทยได้มีข้อริเริ่มด้านมนุษยธรรมเพื่อยกระดับการช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยข้อริเริ่มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากอาเซียนและสอดคล้องกับ ฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน
1. จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
3. ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)
5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค.67 ที่หลวงพระบาง สปป.ลาว รัฐบาลเมียนมาได้ส่งนางสาวมาลา ตาน ไท่ก์ (Malar Than Htaik)รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของรัฐบาลเมียนมา สอดคล้องกับนโยบายของอาเซียนที่อนุญาตให้เมียนมาส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงร่วมประชุมกับอาเซียน
นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ชื่นชมคำมั่นของประเทศอาเซียนในการผลักดันฉันทามติ 5 ข้อเพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมา ในที่ประชุม ทุกฝ่ายได้เห็นพ้องสนับสนุนความคิดริเริ่มของไทยในการสร้างระเบียงมนุษยธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องอพยพ เนื่องจากการปะทะในเมียนมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ชื่นชมเมียนมาที่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมและแสดงความเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เมียนมาและบรรดาประเทศอาเซียนหรือประชาคมระหว่างประเทศมีความเข้าใจกันมากขึ้น
นางเร็ตโน ทำงานอยู่เบื้องหลังเพื่อประสานให้รัฐบาลเมียนมากับผู้ประท้วง เริ่มต้นเจรจาปรองดองในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่อินโดนีเซียเป็นประธานกลุ่มอาเซียน แต่รัฐบาลทหารของเมียนมาปฏิเสธ
#อียู
#เมียนมา
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand