เศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 4/2566 น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.อาจจะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงจากที่เคยคาดไว้เดิมร้อยละ2.4 แต่ยังไม่ สามารถระบุได้ว่าจะปรับลดลงไปต่ำกว่าร้อยละ 2 หรือไม่ เพราะต้องรอการการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมนัดแรกของปีนี้ในวันที่ 7 ก.พ.67 รวมทั้งการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเศรษฐกิจและการเงินเดือน ธ.ค.66 และไตรมาส 4/66 ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวชะลอลง ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวและมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำที่ชะลอลงจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า และส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว อาทิ การที่เศรษฐกิจจีนพึ่งพาตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในทิศทางชะลอลงด้วย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาหมวดอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่เริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตชะลอลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ
ขณะที่แนวโน้มเดือน ม.ค.67 กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่ายังได้รับแรงส่งจากการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า ส่วนระยะต่อไปต้องติดตามคือ
1.การฟื้นตัวของการค้าโลก
2.ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ
3.นโยบายของภาครัฐ
#เศรษฐกิจไทย
#ธนาคารแห่งประเทศไทย