IMF ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำจะหนักกว่าเดิม กรณีนำ AI มาใช้แทนคน

15 มกราคม 2567, 15:50น.


          ก่อนการประชุมเวที เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum) ประจำปี 2024 (WEF2024) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ จะเริ่มขึ้นในวันนี้(15 ม.ค.2567) ซึ่งบรรดาผู้นำธุรกิจและผู้นำการเมืองทั่วโลกร่วมประชุมประจำปี หนึ่งในหัวข้อสำคัญซึ่งที่ประชุมจะมีการพูดคุยกันคือเรื่องข้อดีและข้อเสียของเทคโนโลยี AI



          บีบีซี รายงานว่า น.ส.คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)เผยแพร่ผลศึกษาวิจัยล่าสุดในเรื่องผลกระทบจากเทคโนโลยี AI พบว่า เทคโนโลยี AI จะกระทบภาคแรงงานหนักที่สุด IMF คาดว่า เทคโนโลยี AI จะแย่งงานจากคนร้อยละ 40 เหลือตำแหน่งงานร้อยละ 60 ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และจะแย่งงานจากคนร้อยละ 26 ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและที่แย่มากที่สุด คือ เทคโนโลยี AI จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมหนักยิ่งกว่าเดิม



          IMF ยกตัวอย่างข้อดีของ AI เช่น แรงงานบางกลุ่มอาจจะได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี AI เช่น นำมาช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ในภาพรวม กลุ่มแรงงานที่มีรายได้สูง และคนรุ่นใหม่ อาจจะได้รับประโยชน์ เช่น มีรายได้สูงขึ้น หลังจากนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ข้อเสียจากเทคโนโลยี AI เช่น กลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำและแรงงานที่เริ่มมีอายุมากแล้วเสี่ยงได้รับผลกระทบ เช่นอาจถูกเลิกจ้าง การใช้เทคโนโลยี AI จะส่งผลให้มีการจ้างแรงงานน้อยลง ทั้งจะมีผลต่อเรื่องค่าจ้าง และจะทำให้มีการยุบเลิกงานบางตำแหน่งในอนาคต



          IMF เสนอให้คณะผู้กำหนดนโยบายของภาครัฐ จัดทำมาตรการรองรับผลกระทบต่างๆ รวมถึงโครงการรักษาตำแหน่งให้กับแรงงานกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี AI ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องแรงงาน อีกทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พร้อมเสนอแนะให้ภาครัฐจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น ป้องกันไม่ให้มีการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้เพื่อสร้างความแตกแยกทางสังคม



 



#IMF



#ผลเสียจากAI

ข่าวทั้งหมด

X